ศรีนครินทรวิโรฒคว้าชัย โครงการYoung อ่าน อยู่
ประกาศผลแล้ว TK แจ้งเกิดการตลาด ตอน Young อ่าน อยู่
“โยคะนิทาน” จากม.ศรีนครินทรวิโรฒ คว้าชัย ครองใจทั้งกรรมการและผู้เข้าร่วมโครงการ
หลังจากที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรม “TK แจ้งเกิดการตลาด ตอนYoung อ่าน อยู่” เพื่อเชิญชวนเยาวชนระดับอุดมศึกษาร่วมส่งแผนกิจกรรม “สร้างสรรค์ให้ห้องสมุดมีชีวิต” เข้าแข่งขัน โดยให้เลือกทำกิจกรรมในห้องสมุดเด็ก ห้องสมุดดนตรี หรือห้องสมุดไอที และ 6 ทีมสุดท้ายผ่านการคัดเลือก จะได้ร่วมเวิร์คช็อปเพื่อต่อยอดไอเดีย ชิงทุนการศึกษากว่า 100,000 บาทนั้น
ล่าสุดได้ประกาศผลแล้ว ดังต่อไปนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ทีม “Young ไงก็ได้”จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในกิจกรรม “โยคะนิทาน” สุขสันต์นิทานดี สุขภาพดีกับโยคะ รางวัลที่ 2 ได้แก่ทีม “The Journey” จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในกิจกรรม หนังสืออาจเป็นมากกว่าของขวัญ ซึ่งหนังสือ 1 เล่มใช้แทนตั๋วหนัง 1 ใบ และหนังสือทั้งหมดจะนำไปบริจาคให้ห้องสมุดโรงเรียนบ้านป่าเลา จ.ลำพูน รางวัลที่ 3 ได้แก่ทีม“Just Play” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ในกิจกรรม “Just Play : สร้างเสียงสร้างสรรค์” สนุกไปกับการเล่านิทานเสียง และร่วมไขความลับว่าเสียงเอฟเฟคต่างๆ มาจากอะไร
ด้านรางวัล Popular Vote ได้แก่ทีม “Half Past 4” มหาวิทยาลัยบูรพา ในกิจกรรม“Play Plearn Learn Read” Into The Ocean Book ตะลุยแดนสมุทร ณ ห้องสมุดเด็ก ผจญภัยไปกับพระราชาผู้ใจดีและเจ้าหญิงเงือก เพื่อตามหาเพื่อนใต้สมุทร ส่วนรางวัลชมเชย คือทีม“Nippa หน้า Nippon” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในกิจกรรม “Finding Readers” สนุกกับเกมบันไดงู ที่ชวนผู้เล่นเดินผ่านอุปสรรคเพื่อไปถึงจุดหมาย โดยอาศัยตัวช่วยจากการอ่าน และทีม “New Dimension” มหาวิทยาลัยนเรศวร ในกิจกรรม “Mystery” ไขคดีปริศนาในห้องปิดตาย ตามแบบฉบับนิยายสืบสวนสอบสวน
นางสาว ดารณี ทอพิมาย นักศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์ สาขาวรรณกรรมสำหรับเด็กมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ตัวแทนจากทีม “Young ไงก็ได้” เจ้าของผลงาน “โยคะนิทาน” ที่สร้างความสนุกสนานพร้อมสานสัมพันธ์ให้ครอบครัว จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปได้สำเร็จกล่าวว่า รู้สึกดีใจและขอบคุณคณะกรรมการและผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่านที่ชื่นชอบโยคะนิทาน โดยห้องสมุดแบบโยคะนิทานคือการนำศาสตร์ของนิทานมาผสมผสานกับท่าโยคะ เพราะนำหนังสือในห้องสมุดมาต่อยอดและทำเป็นกิจกรรม บริหารร่างกายง่ายๆ โดยไม่ทิ้งเนื้อหาในหนังสือ ซึ่งนำมาเล่าเป็นเรื่องประกอบกับท่าออกกำลังกาย
“เทรนด์ของการรักษาสุขภาพกำลังมา อีกทั้งเป็นกิจกรรมกลุ่มที่สามารถทำได้ทั้งครอบครัว สานสัมพันธ์ในครอบครัว และอาจเป็นเพราะเรียนสาขาวรรณกรรมเด็กมาโดยตรง ก็เลยทำให้ต่อยอดในมุมมองที่ทีมของตนเข้าใจตัวเด็ก เรื่องหรือสิ่งที่เด็กสนใจ รวมถึงการมีส่วนร่วมจากผู้ปกครอง อีกทั้งตลอดเวลาที่เรียนมาก็ได้ทำกิจกรรมที่สัมพันธ์กับเด็กมาตลอดตั้งแต่ปีหนึ่ง นี่อาจเป็นจุดแข็งของทีมค่ะ
หวังอย่างยิ่งว่าทางอุทยานการเรียนรู้ TK park จะจัดกิจกรรมแบบนี้ขึ้นอีก เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังวัฒนธรรมการอ่าน ซึ่งในครั้งหน้าอยากจะเชิญชวนให้รุ่นน้องลองส่งแผนเข้ามา เพราะเป็นโครงการที่ดี ได้ประสบการณ์ ได้ความสนุก และได้รับคำแนะนำจากพี่ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้มากมายค่ะ”
ด้านนายณัฐวุฒิ เปาหลิมหลี้ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนจากทีม“The Journey” กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการทำกิจกรรม “ของขวัญ” หนังสั้นสร้างแรงบันดาลใจ ว่าเกิดจากการถามเด็กๆชาวเขาที่เขารู้จักระหว่างทำภาพยนตร์สั้นซึ่งพาไปสัมผัสชีวิตของชนเผ่าปกาเกอะญอว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร และที่คำตอบที่ได้กลับมาคือพวกเขาไม่มีความฝัน
“เขาจะทำตามสิ่งที่พ่อแม่ทำนั่นคือการเก็บของป่า ทำให้ผมมองเห็นว่าเป็นเพราะโลกทัศน์เด็กๆยังแคบ และข้างบนนั้นห้องสมุดมีหนังสือน้อยมาก ผมจึงคิดว่าการอ่านเป็นโอกาสที่ทำให้เขาได้เปิดโลกกว้าง ได้รู้ว่ามีอาชีพอะไรอีกมากที่เขาสามารถที่จะเป็นได้ และหนังสืออาจเป็นการจุดความฝัน
เลยเกิดเป็นธีมหลักคือห้องสมุดไร้ผนังและเป็นที่มาของภาพยนตร์เรื่องของขวัญ โดยทางทีมเราตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่าก่อนเข้าชมภาพยนตร์ผู้ชมต้องนำหนังสือมาแลกเป็นตั๋วหนังในการเข้าชม และนำหนังสือเหล่านั้นไปมอบให้กับชุมชนที่ด้อยโอกาสทางการอ่าน
เรามองว่าโครงการของทีมเราสามารถนำไปต่อยอดได้ด้วยการนำภาพยนตร์ไปฉายในหลากหลายพื้นที่ เราก็จะได้หนังสือท้องถิ่นที่แตกต่างกันออกไป ผมคิดว่าอยากให้โครงการผมสานต่อ เพราะว่าโรงเรียนที่ขาดแคลนหนังสือมีอีกมาก และการอ่านสามารถจุดประกายความฝันของเด็กๆได้”
ณัฐวุฒิยังกล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่ได้จากโครงการ “TK แจ้งเกิดการตลาด ตอนYoung อ่าน อยู่” สำหรับเขานั้นคือทำให้เห็นความสำคัญของคำว่าทีม และการได้รางวัลก็ถือว่ามาไกลกว่าที่คิด อยากให้มีจัดกิจกรรมดีๆแบบนี้อีกในปีต่อไป เพราะจะได้มีไอเดียของรูปแบบห้องสมุดใหม่ๆมาส่งเสริมการอ่านเพิ่มขึ้น สำหรับการอ่านแล้วนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดก็ล้วนทำให้ได้ฝึกทักษะและเปิดโลกกว้างขึ้น