เร่งเครื่องประมูล 4 จี...อย่าชักใบเรือให้เสีย
ขณะที่รัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังสาละวนอยู่กับการกอบกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลัง“จมปรัก” หลังประชาชนคนไทยต้องผิดหวังอย่าง “รุนแรง” กับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศในปี 2557 ที่ขยายตัวเพียง 0.7% ต่ำสุดในรอบทศวรรษมาหนแล้ว
ทั้งที่ต้นทุนของรัฐบาล คสช.ชุดนี้ ออกสตาร์ทมาแรงเร็วราว “รถถังติดเทอร์โบ” ที่ทำอะไรก็รวดเร็วทันใจถูกอกถูกใจพ่อยก-แม่ยกขนานใหญ่ แต่วันนี้รถถังติดเทอร์โบคันนี้ กลับออกอาการ “เครื่องรวน” ขึ้นมาซะงั้น นโยบายที่เคยชูเป็นผลงาน “ชิ้นโบว์แดง” กลับแป๊กจ่อจะออกน้ำออกทะเลไปไหนต่อไหนก็ไม่รู้
นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เคยประกาศ “บริหารประเทศมันยากตรงไหน?” วันนี้กลับออกอาการฟิวส์ขาดทุกครั้งที่ถูกสื่อซักไซร้ไล่เลียงเรื่องโร้ดแม็พปฏิรูปประเทศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งที่ยืนยัน นั่งยันว่ารัฐบาล คสช.ชุดนี้ทำงานหนักมาก และหนักกว่ารัฐบาลชุดก่อนเป็นไหนๆ
แต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่หลากสำนักทยอยประกาศออกมากลับสร้างความผิดหวังให้กับประชาชนขึ้นไปอีก ล่าสุดก็คิวของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เพิ่งปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ลงเหลืออยู่เพียง 3% จากที่เคยประเมินไว้ที่ 3.7% และนับเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปีแล้วที่ สศช.ได้ปรับประมาณการทางเศรษฐกิจลงไป
สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของรัฐบาลได้ดีว่าเป็นอย่างไร ยิ่งหากได้พิจารณาตัวเลขส่งออกล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์เพิ่งแถลงไป เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวติดลบไปถึง 7.8% ขณะที่การส่งออกรอบ 6 เดือนก็ชะลอตัวติดลบไปถึง 4.8% ทั้งที่ปัจจัยเศรษฐกิจโลกและระดับราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำเพียง 45-50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอยู่แล้ว
ขณะที่หนทางกอบกู้เศรษฐกิจที่เคยหวังพึ่งกลไกการลงทุนของภาครัฐนั้น มองไปทางไหนวันนี้ก็ดูจะมืดแปดด้าน โครงการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูงและความเร็วปานกลางที่รัฐหวังประเคนให้จีนและญี่ปุ่นเข้ามาดำเนินการนั้น วันนี้ยังยักแย่ยักยันสำเร็จเส้นทางกันไม่แล้วเสร็จและยังไม่สามารถให้ความกระจ่างแก่ผู้คนได้ว่า สุดท้ายแล้วประเทศจะต้องแลกด้วยเงื่อนไขใดบ้าง
แม้นายกฯจะลงมา “โม่แป้ง” ไขลานการเบิกจ่าย รื้อระเบียบจัดซื้อจัดจ้างหวังล้างท่อลงทุนขนานใหญ่ จนถึงขั้นที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐที่มีทั้ง “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน และล่าสุดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศที่มี นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เป็นประธาน แต่ดูเหมือนมาตรการขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ จะยังไม่มีวี่แววว่าจะสามารถกอบกู้เศรษฐกิจให้พลิกฝันกลับมาได้ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ทั้งหลายแหล่เหล่านี้ จ่อจะต้องทอดยาวข้ามปีไปเสียอีก
หนทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริงวันนี้ เมื่อเหลียวดูโดยรอบด้านแล้วจึงเหลืออยู่ที่การเร่งรัดจัดประมูล 4 จีที่รัฐบาลไฟเขียวให้ กสทช.เร่งโม่แป้งไปก่อนหน้านี้ เพราะถือเป็นการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่ไม่เพียงจะทำให้รัฐได้เม็ดเงินค่าใบอนุญาตในทันทีไม่ต่ำกว่า 50,000-65,000 ล้านบาทแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการลงทุนโครงข่าย 4 และ 5 จีของผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตตามมาอีกนับหมื่นล้านด้วย
อย่างที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ยืนยันก่อนหน้านี้ หลังบอร์ด กสทช.ไฟเขียว “โร้ดแม็พ” การประมูล 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz หลักร่างหลักเกณฑ์การประมูลไปแล้ว เชื่อว่าการประมูลคลื่นความถี่ 4 จีที่จะมีขึ้นปลายปีนี้จะช่วยให้การขับเคลื่อนและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้าเติบโตเพิ่มขึ้นและมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท
ขณะที่การประมูลที่จะมีขึ้นนั้นก็เชื่อแน่ว่า ผู้ประกอบการจะแข่งขันเคาะราคากันอย่างดุเดือด ทำให้รัฐได้เม็ดเงินจำนวนมาก ยิ่งเมื่อ กสทช.ตัดสินใจที่จะนำเอาคลื่น 900 MHz มาดำเนินการเปิดประมูลไปพร้อมกับคลื่น 1800 MHz ในคราวเดียวกัน จะยิ่งสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมือถือเสนอราคาแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น เพราะคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ต่างเป็นที่หมายปองของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและจำเป็นต้องอาศัยจุดแข็งของแต่ละคลื่นประกอบกันจึงจะทำให้การให้บริการมือถือระบบ 4G LTE มีความสมบูรณ์
ก่อนหน้านี้นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้รายงานผลการศึกษาการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการให้บริการบรอดแบนด์ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Broadband) โดยผลการศึกษาชี้ว่า Mobile Broadband ก่อให้เกิดผลประโยชน์มากกว่าผลเสีย ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน โดยจากการคำนวณผลประโยชน์สุทธิ พบว่าในปี พ.ศ.2556 มีผลทำให้รายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ของประเทศเพิ่มขึ้น 430,233 ล้านบาท
ขณะที่ในส่วนการประเมินผลกระทบของเทคโนโลยี 4G ที่มีต่อเศรษฐกิจนั้น นักวิชาการ มช. ระบุว่าเบื้องต้นว่า หากมีการนำเทคโนโลยี 4G มาใช้จะมีผลกระทบเชิงบวกต่อจีดีพีของประเทศในปี 58 คิดเป็นมูลค่า 168,136 ล้านบาท และ 265,274 ล้านบาทในปี 2559
ไอ้ที่นักวิชาการบางสำนักออกมาตีปลาหน้าไซ กสทช.ตั้งเกณฑ์ประมูลไว้ต่ำไปหรือไม่ ขณะที่บริษัทสื่อสารโทรคมนาคมบางรายกลับออกมาโอดครวญตีโพยตีพายว่าราคาขั้นต่ำสูงเกินไปนั้น ขืนทั่นนายกฯไปเต้นตามก็มีหวังได้หลงเข้ารกเข้าพงอีก
มันก็แค่ละครสลับฉากหวังดึงการประมูลของใครบางคนเท่านั้นแหล่ะ เพราะจะอย่างไรเสีย หนทางในการกอบกู้เศรษฐกิจไทยวันนี้ก็มีเพียงการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการ 4 จีนี่แหล่ะเป็นความหวังสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่ในเวลานี้ !