ผลตรวจสารปนเปื้อน "องุ่นไซมัสคัส" พบสารตกค้างกว่า 50 ชนิด
เพจเฟสบุ๊ค FDA Thai ได้ไลฟ์สดแจงผลการตรวจสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสคัสทั้งหมด 24 ตัวอย่าง ที่ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้านเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กองด่านอาหารและยา สุ่มตรวจองุ่นไชน์มัสคัส 24 ตัวอย่าง ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยสุ่มตรวจสารเคมีเกษตรมากกว่า 400 ชนิด พบสารเคมีเกษตรตกค้างในเกือบทุกตัวอย่างที่ตรวจ และพบตกค้างเกินค่ามาตรฐานมากถึงร้อยละ 95.8
ทางด้านนางทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มีพันธกิจเฝ้าระวังคุณภาพสินค้าและบริการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน “ฉลาดซื้อได้รับคำถามและข้อเสนอจากผู้บริโภคว่า องุ่นไชน์มัสคัสที่มีขายอยู่ทั่วไปในช่วงเวลานี้ มีโปรโมชันและการเชิญชวนให้ซื้อมาก ๆ เช่น การลดราคาหรือการแถมแบบ ซื้อ 1 กล่องแถม 1 กล่อง อีกทั้งยังมีวางจำหน่ายไปทั่ว ทั้งในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ ร้านสะดวกซื้อ รถเร่ แผงข้างทาง และร้านค้าออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคส่วนหนึ่งกังวลว่า จะมีความเสี่ยงในเรื่องของสารพิษตกค้างหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงชวนเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มาร่วมกันตรวจสารพิษตกค้างในองุ่นไชน์มัสคัส การตรวจสอบพบว่า 95.8% ของตัวอย่างองุ่นไชน์มัสคัสหรือ 23 จาก 24 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด แบ่งเป็น 2 กรณีคือ
1. องุ่น 1 ตัวอย่าง พบสารคลอร์ไพริฟอสซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ทั้งนี้ตามกฎหมายต้องตรวจไม่พบเนื่องจากยกเลิกค่า MRL แล้ว
2. องุ่นอีก 22 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้าง 14 ชนิด เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต (สารพิษตกค้างที่ไม่มีค่า MRL ตามกฎหมายกำหนดให้พบได้ไม่เกินค่าดีฟอลต์ลิมิต 0.01 mg/kg)
ทั้งนี้ มีการพบสารพิษตกค้างทั้งหมด 50 ชนิด พบว่า เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จำนวน 26 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้ในประเทศไทย) จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos และ Endrin aldehyde เป็นสารที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายมากถึง 22 ชนิด ซึ่งเป็นสารที่ยังไม่มีการประเมินใด ๆ ภายใต้กฎหมายไทย จากสารพิษตกค้าง 50 ชนิด มีสารประเภทดูดซึม (Systemic pesticide) 37 ชนิด หรือคิดเป็น 74% ของสารพิษตกค้าง โดยสารกลุ่มนี้มีโอกาสตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อขององุ่น
ซึ่งการล้างสารกลุ่มนี้ออกจากเนื้อเยื่อพืชคงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยง่าย โดยมีข้อเสนอต่อเอกชนคือ ห้างโมเดิร์นเทรดและผู้จำหน่ายองุ่นไชน์มัสแคทล็อตที่มีการสุ่มตัวอย่างและพบสารพิษตกค้างเกินค่าที่กฎหมายกำหนด ควรแสดงความรับผิดชอบ หากยังมีองุ่นล็อตดังกล่าวเหลืออยู่ควรจัดเก็บออกจากชั้นวาง และหากจำหน่ายองุ่นล็อตดังกล่าวไปหมดแล้ว ควรแถลงมาตรการที่ชัดเจนกับซัพพลายเออร์ และแหล่งผลิตที่มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน เช่น ผู้ประกอบการต้องยกเลิกการนำเข้าจากซัพพลายเออร์ และแหล่งผลิตนั้น เมื่อมีการกระทำผิดซ้ำอีก ผู้ประกอบการนำเข้าห้างโมเดิร์นเทรด และผู้จำหน่ายต้องระบุแหล่งที่มาของสินค้านำเข้าเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้เมื่อเกิดปัญหา