โซเชียลกระหึ่ม แห่ปกป้องเขาถ้ำที่ยะลา แหล่งอารยธรรมโบราณกว่า 3,000 ปี จนกลายเป็น #ถ้ำยะลา #เขายะลา
ชาวบ้านยะลาเสียใจ หลังกรมศิลปากรประกาศลดพื้นที่ “เขายะลา” หวั่นกระทบโบราณสถาน
วันนี้ (3 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่กรมศิลปากร โดย นายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ได้ออกประกาศลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2562 เรื่องแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถาน ภาพเขียนสีเขายะลา ตำบลลิดล-ตำบลยะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา โดยพื้นที่โบราณสถานประมาณ 887 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 118 ตอนพิเศษ 172 ง วันที่ 21 ธันวาคม 2544 โดยให้มีการปรับลดพื้นที่เขายะลา ประมาณ 190 ไร่ จึงทำให้เหลือพื้นที่ 697 ไร่ 35 ตารางวา
ซึ่งในประกาศได้ระบุว่า ขณะนี้พื้นที่จังหวัดยะลา และจังหวัดใกล้เคียงได้ประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งหินอุตสาหกรรม และจากสาเหตุแหล่งหินอุตสาหกรรมหลายแห่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง จึงทำให้จำเป็นต้องใช้แหล่งหินอุตสาหกรรมจากเขายะลา ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานภาพเขียนสี และเพื่อเป็นการลดปัญหาการขาดแคลนแหล่งหินอุตสาหกรรม และลดปัญหาการเกิดเหตุของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 อธิบดีกรมศิลปากร จึงประกาศแก้ไขเขตที่ดินโบราณสถานภาพเขียนสีเขายะลา อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ตามประกาศ
โดยผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว และได้พบกับแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านยะลาที่ทราบข่าวรู้สึกตกใจและเสียใจต่อการออกประกาศดังกล่าว แม้ที่ผ่านมา จะมีการร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่เขายาลอ หรือเขายะลาดังกล่าวไว้ เพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา และแม้ที่ผ่านมาทางกรมศิลปากรจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสืบค้นข้อมูลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางชาวบ้านเองก็มีความหวังที่จะให้เขายาลอ คงสภาพของโบราณสถานประจำจังหวัด
สืบเนื่องจากห้วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในพื้นที่เข้าไปสำรวจ และพบภาพเขียนสีโบราณถึง 2 แห่งด้วยกัน นอกจากนี้ ยังพบอาวุธโบราณซึ่งเชื่อว่าเป็นของมนุษย์ยุคหินหลายพันปี ก่อนที่จะมีภาพเขียนสีตามวิวัฒนาการ โดยภาพเขียนสีที่แรกที่ได้พบนั้นมีพื้นที่บนภาพเขียนเกือบ 3 เมตร แต่ก็ได้พังทลายและเสียหายจากการระเบิดหินในการประกอบอุตสาหกรรมเหมืองหิน จนล่าสุดเหลือภาพเขียนสีบนเขายาลอ หรือเขายะลาเพียง 1 แห่ง ที่ยังคงอยู่บนผนังหิน
แหล่งข่าวที่ได้ให้ข้อมูลเปิดเผยอีกว่า ชาวบ้านรู้สึกกังวลใจ และไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะที่ผ่านมาก็หวังว่า กรมศิลปากรจะให้ความสำคัญต่อโบราณสถานประจำท้องถิ่น แต่เมื่อมีการประกาศออกมาแบบนี้ก็ทำให้ห่วงว่า หากมีการอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมหินต่อไป ภาพเขียนสีโบราณบนเขายาลอก็จะไม่หลงเหลือให้เห็นอีกต่อไป
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียมพบว่า แหล่งอุตสาหกรรมหินเดิมนั้นอยู่ในเขต ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และเขายาลอ หรือเขายะลานั้น มีพื้นที่ส่วนที่เหลือใน ต.ยะลา อีกกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพื้นที่ โดยส่วนที่พบภาพเขียนสีอยู่ในเขตพื้นที่ ต.ลิดล อ.เมืองยะลา จ.ยะลา
แหล่งข่าวได้เล่าให้ฟังอีกว่า ที่ผ่านมานั้นมีทั้งผู้นำหน่วยงานหลายหน่วยงานในพื้นที่พากันวิ่งเข้ามาในตำบลยะลา เพื่อหวังที่จะให้ชาวบ้านยินยอมในการทำอุตสาหกรรมหิน ซึ่งชาวบ้านเองมองว่า การประกาศของกรมศิลปากรดังกล่าวที่ออกมานั้น เป็นการเอื้อต่อธุรกิจอุตสาหกรรมหินของกลุ่มนายทุนในพื้นที่