โนเบลแพทย์ 2016 จากกระบวนการเซลล์เปิบพิสดารตัวเอง
- ร่างกายของเราประกอบไปด้วยหน่วยเล็กๆที่เรียกว่าเซลล์ เซลล์เหล่านี้รวมตัวกันเป็นเนื้อเยื่อ เป็นอวัยวะ ทำงานร่วมกันเป็นระบบ ทำให้เรามีชีวิตรอดมานั่งอ่านโพสนี้อยู่
- ในเซลล์หนึ่งเซลล์มีองค์ประกอบหลายส่วนเรียกว่าออร์แกเนลล์ เช่นนิวเคลียสที่เก็บสารพันธุกรรม ไมโทคอนเดรียที่สร้างพลังงาน หรือพระเอกของรางวัลโนเบลปีนี้คือไลโซโซม ที่มีหน้าที่ย่อยสลายสิ่งต่างๆภายในเซลล์
- เราจะพบไลโซโซมมากในเซลล์ที่เกี่ยวกับการย่อยสลายเช่นเซลล์พืชกินแมลง เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเซลล์ส่วนหางของลูกอ๊อด
- นอกจากจะย่อยสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ไลโซโซมยังสามารถย่อยองค์ประกอบภายในเซลล์ได้ด้วย เราเรียกกระบวนการนี้ว่า Autophagy หรือการกลืนกินตัวเอง
- Yoshinori Ohsumi เริ่มต้นศึกษากระบวนการนี้จากยีสต์ โดยทำให้มันกลายพันธุ์ และศึกษา autophagy ทีละขั้น จนค้นพบยีนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้ และนำไปสู่การค้นพบกลไก autophagy ในมนุษย์อีกด้วย
- Autophagy จะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ต้องการสารอาหาร ต้องการซ่อมแซมออร์แกเนลล์ที่เสียหาย หรือเมื่อเซลล์ติดเชื้อ เป็นกระบวนการที่คอยการันตีคุณภาพของเซลล์ว่าอยู่ในสภาพดีเยี่ยมตลอดเวลา
- หากกระบวนการ autophagy ผิดปกติไป อาจเป็นสาเหตุของโรคพาร์กินสัน เบาหวานประเภทที่ 2 โรคทางพันธุกรรม หรือมะเร็งได้
- แม้ว่าจะมีการค้นพบ autophagy มาก่อนหน้านี้ แต่การค้นพบของ Ohsumi เป็นรากฐานที่เชื่อมโยงกระบวนการภายในเซลล์เข้ากับองค์ความรู้ทางการแพทย์ ในขณะนี้มีงานวิจัยทั่วโลกที่กำลังศึกษาผลของ autophagy กับโรคอื่นๆ ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจรักษาบางโรคให้หายด้วยการซ่อมแซมกระบวนการเล็กจิ๋วที่อยู่ในเซลล์เราก็เป็นได้