#นักดาราศาสตร์บันทึกภาพดาวแคระขาวก่อน,ขณะและหลังเกิดโนวาได้
ดาวแคระขาวสามารถดึงดูดแก๊สจากดาวฤกษ์ที่เป็นคู่ของมันส่งผลให้มวลของมันเพิ่มขึ้นจนเกิดปฏิกิริยาฟิวชัน เมื่อเกิดปฏิกิริยาผิวของมันจะระเบิดออกจนกลายเป็นโนวา(Nova)สุกสว่าง
โนวา เป็นปรากฏการณ์ที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจแต่ยังมีข้อมูลน้อย
ส่วนหนึ่งเนื่องจากความสว่างของมันมีค่าน้อยเมื่อเทียบกับซูเปอร์โนวา
หลายคนอาจสับสนระหว่างโนวากับซูเปอร์โนวา Ia ว่าสองปรากฏการณ์อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร?
ซูเปอร์โนวา Ia นั้นเกิดจากดาวแคระขาวดึงดูดแก๊สจากดาวฤกษ์ที่เป็นคู่ของมันด้วยอัตราที่สูงกว่า(และด้วยรายละเอียดที่แตกต่างออกไป)เพราะคู่ของมันมักเป็นดาวยักษ์แดง ดังนั้นเมื่อเกิดซูเปอร์โนวา คู่ของมันจะถูกแรงระเบิดผลักให้ปลิวหายไปในอวกาศ ส่วน ดังนั้นระบบดาวแคระขาวที่เกิดโนวาจะคงอยู่ต่อไปหลังจากเกิดโนวาและเมื่อเวลาผ่านไปหลายพันปีจะเกิดโนวาขึ้นใหม่ได้
Przemek Mróz นักศึกษาปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์จาก Warsaw University Astronomical Observatory ประเทศโปแลนด์ ใช้กล้องโทรทรรศน์ประเทศชิลีศึกษาสสารมืดด้วยการเก็บภาพระยะยาว ระหว่างศึกษาอยู่เขาได้พบจุดสว่างปรากฏขึ้นในปี 2009 ซึ่งนั่นคือโนวา ที่อยู่ห่างจากโลกออกไป 23,000 ปีแสง
โชคดีที่เขาเก็บภาพได้มากพอจนมีภาพดาวแคระขาวก่อนเกิดโนวา,ขณะเกิดโนวาและหลังเกิดโนวาได้ ซึ่งงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature
โนวาที่พบนั้นเกิดจากดาวแคระขาวและดาวฤกษ์ที่โคจรใกล้กันมากโดยรัศมีวงโคจรมีค่าประมาณรัศมีดวงอาทิตย์เท่านั้น
Przemek Mróz พบว่าดาวแคระขาวดึงดูดไฮโดรเจนจากดาวฤกษ์ข้างๆด้วยอัตราที่ช้ามากๆ แต่หลังจากการเกิดโนวา ไฮโดรเจนถูกดึงดูดต่อด้วยอัตราที่สูงขึ้นและคงที่กว่าเดิม นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์วัดค่าเหล่านี้ได้ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกเพราะดาวคู่จะเกิดโนวาในทุกๆหมื่นปีถึงล้านปี และนี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์พบว่าระบบมีสมบัติเปลี่ยนไปอย่างไรหลังจากเกิดโนวาแล้ว
การสังเกตนี้เป็นประโยชน์ต่อการสร้างแบบจำลองมากเพราะมีข้อมูลของระบบทั้งก่อนโนวา ขณะเกิดโนวา และหลังเกิดโนวา ให้นักดาราศาสตร์เปรียบเทียบกับแบบจำลองต่างๆ
Przemek Mróz เชื่อว่าหลังจากเกิดโนวานานพอ ระบบจะเย็นลงอย่างมากและเข้าสู่ความมืด การถ่ายเทมวลสารระหว่างดาวฤกษ์จะหยุดลงทำให้ระบบเข้าสู่ภาวะเหมือนจำศีล
อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันและยอมรับจากนักดาราศาสตร์ในวงกว้าง
เรียบเรียงโดย
อาจวรงค์ จันทมาศ