การแสดงละครโนห์เรื่อง Shikimi Tengu (ต้นไม้บนหลุมฝังศพ) Cr ภาพจาก ntj.jac
ซีรี่ส์ “เรื่องดี ๆ จาก ดร.ณัชร” เรื่องที่ 127
ซีรี่ส์ย่อย “เรียนรู้จากซามูไร” ตอนพิเศษ
วันก่อนผู้เขียนได้อ่านและแชร์บทความดี ๆ ชื่อ “อนุรักษ์อย่างสร้างสรรค์ … บทเรียนจาก “โขน” ญี่ปุ่น” ของคุณเกตุวดี Marumura
เธอเลือกเล่าเรื่องละครโนห์โดยเปรียบเทียบว่าเป็น “โขนญี่ปุ่น”
ในฐานะที่เคยศึกษาละครโนห์มาบ้าง ผู้เขียนขอต่อยอดบทความดังกล่าวสักเล็กน้อยว่า…
…ทำไม “ละครโนห์” จึงเปรียบได้กับ “โขน?”
…ละครโนห์ ศักดิ์สิทธิ์อย่างไร?
และประเด็นสุดท้ายที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยในตอนนี้ คือ
…ศิลปินญี่ปุ่น “กล้า” นำละครโนห์มาปรับให้ร่วมสมัยได้อย่างไร? และพวกเขาได้รับการตอบรับอย่างไร
ทำไม “ละครโนห์” จึงเปรียบได้ว่าเป็น “โขนญี่ปุ่น”
จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนเรื่องละครญี่ปุ่นมาเล็กน้อยในวิชา Introduction to Japanese Literature (Drama) ที่มหาวิทยาลัยโซเฟีย ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการทุนการศึกษาของสายการบินแจแปน แอร์ไลนส์ ทางมหาวิทยาลัยเลือกละครแบบดั้งเดิมมาสอนสามประเภทหลัก คือ ละครโนห์ ละครคาบุกิ และละครหุ่นบุงระขุ
นอกจากการฟังบรรยายเรื่องประวัติละครโนห์แล้ว พวกเรายังต้องอ่านบทละครโนห์ 10 เรื่องในเล่มนี้และไปค้นคว้าเพิ่มในห้องสมุดเพื่อเขียนรายงานปลายภาคยาว 50 หน้า…
…และไปเข้าชมการแสดงละครโนห์เรื่องที่คลาสสิคมากเรื่องหนึ่ง คือ Aoi no Ue (Lady Aoi) อีกด้วย ในภาพคือหน้าปกและด้านในสูจิบัตรการแสดง ที่มีทั้งเรื่องย่อและบทภาษาอังกฤษประกอบภาพเพื่อให้ผู้ชมสามารถดูละครได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
ภาพโปสเตอร์ละครโนห์เรื่อง Aoi no Ue Cr ภาพจาก pamandjapan
จากละครสามประเภทที่เรียนมา ผู้เขียนรู้สึกว่าละครโนห์มีความคล้ายโขนมากกว่าละครประเภทอื่นตรงที่
1) เน้นสอนปรัชญาขั้นลึกซึ้ง
ละครโนห์จะมีเนื้อเรื่องที่สอนพุทธปรัชญา เช่น ความทุกข์จากการพลัดพราก โดยในบทละครบางเรื่อง เช่น Aoi no Ue (Lady Aoi) จะแทรกเนื้อหาจากพระไตรปิฎกโดยตรง เช่น เปรียบเทียบสังสารวัฏเหมือนบ้านที่ไฟกำลังไหม้ พูดถึงภพภูมิต่าง ๆ และกำเนิด 4 ประการ เป็นต้น
ส่วนโขนซึ่งเน้นเล่นเรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียวจะแฝงปรัชญาความเชื่อของฮินดู เช่น การที่พระนารายณ์อวตารมาเป็นพระราม เป็นต้น
2) เป็นการละเล่นของชนชั้นสูง
โขนของไทยนิยมเล่นกันในวัง ส่วนละครโนห์เป็นที่นิยมของชนชั้นปกครองญี่ปุ่น ได้แก่เหล่าซามูไรในยุคศักดินา และต่อมาก็ขยายไปถึงขุนนางชั้นสูงในวัง
โดยใน “ยุคทอง” ของละครโนห์คือคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ค.ศ. 1300-1399 หรือ พ.ศ. 1843-1942) นั้น โชกุนหรือผู้นำทหารที่มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศทางพฤตินัยนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้อุปถัมภ์หลักของคณะละครโนห์ระดับปรมาจารย์
ในประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการเล่นโขนในวังมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
สำหรับละครคาบุกินั้น มีความเป็น “ชาวบ้าน” มากกว่า คือ นิยมกันในหมู่พ่อค้า และชาวเมืองทั่วไป ผู้เขียนเองไม่มีความรู้เรื่องละครพื้นบ้านไทยมากนัก แต่ขอเดาเล่น ๆ ว่าน่าจะพอเทียบได้กับ “ลิเก”
3) วิธีการดำเนินเรื่อง
ทั้งละครโนห์และโขน ดำเนินเรื่องด้วยบทกวีในฉันทลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งในบทร้อง บทพากย์ และบทเจรจา และมีการใช้ดนตรีในการดำเนินเรื่องเหมือนกัน และยังใช้ความสามารถในการการร่ายรำหรือการเต้นของตัวละครเป็นหัวใจในการดำเนินเรื่องเหมือนกันด้วย
ในขณะที่ละครโนห์มีบทร้องและการเคลื่อนไหวที่ดูสงบ สง่า มีสมาธิ ละครคาบุกิจะดูจัดจ้าน มีสีสัน และมีความ “โฉ่งฉ่าง” มากกว่า
4) มีการใช้หน้ากาก
ข้อนี้อาจจะเป็นประเด็นย่อย แต่ละครโนห์และโขนคล้ายกันตรงที่ตัวละครโนห์ใส่หน้ากากเพื่อระบุว่าผู้เล่นนั้น ๆ เป็นตัวละครใด เหมือนกับโขนที่ใส่หัวโขนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวละครนั้น ๆ
สำหรับละครคาบุกินั้นไม่ใช้หน้ากาก แต่ใช้วิธีแต่งหน้าด้วยสีสันฉูดฉาดแทน
ความ “ศักดิ์สิทธิ์” ของละครโนห์
สำหรับผู้เขียน ความ “ศักดิ์สิทธิ์” ของละครโนห์ไม่ได้อยู่ที่เป็นการละเล่นของชนชั้นสูง หรือว่าเน้นสอนพุทธปรัชญาให้คนรู้สึกเข็ดขยาดกับทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิดเท่านั้น แต่อยู่ที่ “การแสดง” เองด้วย!
ทั้งนี้เพราะการแสดงละครโนห์ต้องอาศัยพื้นฐาน “หลักการเจริญสติของเซน” อย่างยิ่งยวด
การเล่นละครโนห์ทุกครั้งคือการ “เล่นสด” ระหว่างศิลปิน 3 กลุ่มที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นคณะละครโนห์ ได้แก่ กลุ่มนักแสดง กลุ่มนักดนตรี และกลุ่มนักร้องเพลงประสานเสียงประกอบเรื่อง ต่างฝ่ายต่างแยกกันซ้อม
เรียกว่าเจอกันสด ๆ ในวันแสดงเลย!
กล่าวกันว่าบทบาทที่ยากที่สุดคือบทของนักแสดง เพราะต้องมีสติรู้ว่าดนตรีจะเป็นอย่างไร มีสติรู้ว่าคณะผู้ประสานเสียงจะร้องอย่างไร เพื่อที่ตนเองจะได้แสดงสีหน้าท่าทาง เดินไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อเต้นและร้องให้เหมาะสมกลมกลืนได้
ภาพการแสดงสดของนักแสดง นักดนตรี และผู้ขับร้องเพลงประสานเสียงของคณะละครโนห์ จะเห็นได้ว่าทุกคนใช้ทั้งสติและสมาธิอย่างจริงจังมาก Cr ภาพ ourgoldennews
เมื่อละครเป็น “เครื่องมือ” สู่การตื่นรู้
ฟุกุชิมะเซนเซ อาจารย์สอนวิชาดาบซามูไรโบราณของผู้เขียนเล่าว่า การเคลื่อนไหวของผู้เล่นละครโนห์เหมือนการเคลื่อนไหวของผู้ฝึกศิลปะป้องกันตัว คือต้องมีสติรู้ชัดในทุกการเคลื่อนไหวและในทุกประสาทสัมผัส อีกทั้งยังต้องตัดความเป็นตัวตนออกไปให้ได้
ให้เหลือแต่ “ตัวรู้” เท่านั้น!
สำหรับชาวไทยที่เคยเจริญสติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน 4 เมื่อได้ชมละครโนห์จะเห็นด้วยตัวเองว่า ทั้งผู้แสดง นักดนตรี และนักร้องล้วนกำลัง “เจริญสติในอิริยาบถย่อย” นั่นเอง
แม้แต่ผู้ชม ถ้าจะดูให้เป็นแบบเซน ๆ ในยุคโบราณ ก็ต้องดูด้วยความ “มีสติรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ในปัจจุบันขณะ โดยไม่มีการคิดปรุงแต่ง”
เรียกได้ว่าต้องมีสติทั้งผู้เล่นและผู้ดูเลยทีเดียว ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าได้เจริญสติต่อเนื่องไปนาน ๆ ก็สามารถเกิดการตื่นรู้หรือ ซาโตริ ขึ้นได้ด้วย!
ละครโนห์จึงมีความ “ศักดิ์สิทธิ์” ที่ลึกซึ้งตรงนี้
เมื่อญี่ปุ่น “กล้าเล่น” กับของ “ศักดิ์สิทธิ์”
แม้จะมีความ “ศักดิ์สิทธิ์” ขนาดนี้ ศิลปินชาวญี่ปุ่นก็ยัง “กล้าเล่น” กับละครโนห์ โดยปรับให้มีความร่วมสมัยน่าสนใจอยู่เสมอได้
ในบทความของคุณเกตุวดีได้ยกตัวอย่างที่เอเจนซี่โฆษณาดังของญี่ปุ่นนำละครโนห์มาใส่เทค “โนห์” โลยีลงไปในการจัดแสดงภาพศิลปะของซัลวาดอร์ ดาลี่อย่างกลมกลืน โดยยังระมัดระวังและอนุรักษ์ในส่วนที่พึงอนุรักษ์ไว้ให้คงมีความขลังและดูมีระดับเหมือนเดิมได้ด้วย ไม่ใช่ดูเก่าแก่คร่ำครึขึ้นหิ้ง
แต่งานแสดงภาพศิลปะดังกล่าวซึ่งจัดในปี 2559 นี้ไม่ได้เป็น “ครั้งแรก” ที่ชาวญี่ปุ่น “กล้าเล่น” กับละครโนห์อันมีกลิ่นไอ “ความศักดิ์สิทธิ์”
เพราะศิลปินญี่ปุ่น “กล้าเล่น” กันมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2493 แล้ว!
ในช่วงระหว่างปี 2493-2498 นักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดัง ยุคิโอะ มิชิม่า ได้นำบทละครโนห์โบราณมาเขียนขึ้นใหม่ให้มีความร่วมสมัยถึง 5 เรื่อง
ยุคิโอะ มิชิม่า Cr ภาพจาก cna
มิชิม่ารักษาสไตล์ของบทละครและจิตวิญญาณของละครโนห์เอาไว้ครบถ้วน เพียงแต่ย้ายเวลาและสถานที่มายังยุคสมัยใหม่ ชนิดที่มิชิม่าเองเปรียบเทียบว่าสามารถนำไปแสดงบนม้านั่งในสวนสาธารณะเซ็นทรัล ปาร์ค กลางกรุงนิวยอร์คได้ทีเดียว!
ทั้งนี้มิชิม่าไม่ใช่ศิลปินธรรมดา ๆ แต่เขาเป็น “มือหนึ่ง” ของญี่ปุ่นในยุคนั้น โดยเคยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมถึง 3 ครั้ง
พูดง่าย ๆ ก็คือ ผู้ที่ “กล้า” กระโดดเข้ามาฉีกกรอบบทละครโนห์ไม่ใช่ศิลปินระดับไก่กา แต่เป็นศิลปินระดับชาติที่มีผลงานที่หลากหลายถึงเกือบ 150 ชิ้น
งานของมิชิม่ามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ภาษางดงามและมีคุณค่าทางวรรณกรรมสูง เขาได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนที่มี “คลังคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่น” มากที่สุดของยุคด้วยความเป็นนักอ่านตั้งแต่เด็ก งานของเขาได้รับการบรรจุเข้าเป็นตำราเรียน ได้รับการแปลไปหลายภาษา อีกทั้งยังขายได้ทั่วโลกจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าบทละครโนห์แบบร่วมสมัยของมิชิม่าจึงได้รับการนำไปต่อยอดเล่นเป็นทั้งละครและภาพยนตร์ ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้ (มิชิม่าเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2513)
ที่น่าสนใจที่สุดคือ ถึงแม้มิชิม่าจะกล้านำเสนอบทละครโนห์ในรูปแบบร่วมสมัยชนิดฉีกกรอบ แทนที่จะได้รับกระแสต่อต้านจากสังคม มิชิม่ากลับได้รับรางวัล Kishida Prize for Drama ซึ่งเป็นรางวัลด้านการละครที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศญี่ปุ่น
ภาพบน เป็นละครโนห์เรื่อง Aoi no Ue (Lady Aoi) ส่วนภาพล่าง เป็นละครโนห์เรื่อง Sotoba Komachi (โคบาจิบนหลุมฝังศพ) ที่มิชิม่านำมาเล่าแบบร่วมสมัยและนำเสนอในรูปแบบของละครและภาพยนตร์ ถ่ายทำในราวปีค.ศ. 1975 Cr ภาพจาก Martygrossfilm
และเมื่อปี 2556 นี้เอง ก็มีปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนอยากจะเรียกว่าเป็นวิธีคิดต่อยอดที่สร้างสรรค์อย่างที่สุดของศิลปินร่วมสมัยญี่ปุ่นเกิดขึ้นอีก คือ ละครโนห์เดิมเรื่อง Aoi no Ue (Lady Aoi) ซึ่งมิชิม่าได้มาเขียนบทใหม่ให้เป็นอุปรากรร่วมสมัย ได้ถูกนำไปแสดงใหม่ในรูปแบบของละครหุ่นบุงระขุ!
ถ้าจะนำเสนอด้วยภาพ ละครโนห์เรื่อง Aoi no Ue นี้ ได้มีวิวัฒนาการในญี่ปุ่นจากลักษณะนี้
ละครโนห์ Aoi no Ue แบบดั้งเดิมจากศตวรรษที่ 14 Cr ภาพ Theatrenohgaku
มาสู่ภาพล่างนี้…
ละครโนห์ Aoi no Ue ในรูปแบบภาพยนต์ร่วมสมัยในการตีความและเขียนบทใหม่ของมิชิม่า ในปี 1975
มาสู่ภาพนี้…
ละครโนห์ Aoi no Ue จากบทละครของมิชิม่า ที่ถูกนำไปเล่นในรูปแบบละครหุ่นบุงระขุในปี 2556 Cr ภาพ Japantimes
ล่าสุด ในปี 2558 International House of Japan องค์กรการกุศลกลางกรุงโตเกียวซึ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมได้จัดให้มีการแสดงละครโนห์เรื่อง Aoi no Ue แบบดั้งเดิมหนึ่งฉากย่อยในภาษาญี่ปุ่น และการอ่านบทละครโนห์เรื่องเดียวกันฉบับร่วมสมัยของมิชิม่าเป็นภาษาอังกฤษ “ควบคู่กันไป” ในงานเดียวกันอีกด้วย!
คงไม่มีวิธีใดที่จะ “ปิดฉาก” บทความนี้อย่างเหมาะสมเท่ากับการยกบทพูดตอนหนึ่งของละครเรื่อง Aoi no Ue มาทิ้งไว้ให้ชวนคิด…
“…In this world
where all the lightning passes,
there should be none for me to hate…”
“…ในโลกนี้…
โลกซึ่งชีวิตล้วนผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็วราวกับสายฟ้าแลบชั่วพริบตา
ฉันไม่ควรจะเสียเวลา(ไปกับการ)เกลียดชังใคร…”
ประพันธ์โดย — Zeami Motokiyo
(ปรมาจารย์ละครโนห์ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างค.ศ. 1363 – 1443)
สรุปการเรียนรู้จากซามูไร
๑. ถ้าจะดูตัวอย่างจากละครโนห์ จะเห็นว่า ญี่ปุ่นมีทั้งการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเก่าไว้อย่างเหนียวแน่น และมีทั้งการนำไปต่อยอดให้มีความร่วมสมัย สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยยังรักษา “แก่น” หรือจิตวิญญาณของเรื่องเดิมไว้ได้ครบถ้วน
๒. สังคมญี่ปุ่นมีการเปิดรับการต่อยอดศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างใจกว้างมาตลอดหลายศตวรรษ
๓. อีกนัยหนึ่ง ญี่ปุ่นมีผลงานศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลายให้ผู้ชมเลือกเสพได้ตามใจชอบ ใครชอบดูของดั้งเดิมก็ยังมีให้ดู ใครนิยมดูสไตล์ร่วมสมัยก็มีมาให้เลือกชมอย่างสร้างสรรค์มากมายไม่ขาดสาย แถมล่าสุดยังจัดแสดงทั้งสองแบบควบคู่กันไปอีกด้วย
๔. ทุกเหรียญย่อมมีสองด้าน บางทีสิ่งที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากทั้งสองด้านด้วยใจที่เป็นกลางนั่นเอง
———————