แนะวิธีเอาตัวรอดเหตุ เรือล่ม - เรือล่มอยุธยาล่าสุดพบศพแล้ว 26 ราย จนท.เร่งหาอีก 3 ผู้สูญหาย
ภาพ http://www.komchadluek.net
คืบหน้าตัวเลขผู้เสียชีวิตเหตุเรือล่มอยุธยาพุ่ง 26 ราย เจ็บ 43 เร่งค้นหาผู้สูญหายอีก 3 ราย หลังร่างผู้เสียชีวิตเริ่มลอยขึ้นมาประกอบผู้บาดเจ็บที่ รพ.เสียชีวิตเพิ่ม-ดร.ธรณ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์แนะวิธีเอาตัวรอดเมื่อต้องโดยสารทางเรือ
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 ความคืบหน้าเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวสองชั้นบรรทุกชาวไทยอิสลามล่องตามลำน้ำ เจ้าพระยา หลังกลับจากร่วมทำบุญประกอบพิธีทางวัฒนธรรมชุมชน ที่มัสยิดตะเกี่ย ต.สำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา แล้วชนเสาเข็มกันเขื่อนหน้าวัดสนามไชย ม.7 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้เรือจมอย่างรวดเร็ว ผู้โดยสารบนเรือกระโดดหนีตายอลหม่าน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดคืนที่ผ่านมาและช่วงเช้ามืดวันนี้(20ก.ย.59) เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ระดมค้นหาผู้สูญหาย ปรากฏว่าร่างผู้เสียชีวิตได้ลอยขึ้นเหนือแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากจุดเกิดเหตุเรือล่มประมาณ 3 กิโลเมตรอีก 4 ศพ ทำให้ขณะนี้พบศพผู้เสียชีวิตแล้ว 26 ราย ยังเหลือสูญหายอีก 3 ราย รวมถึงผู้บาดเจ็บที่เสียชีวิตเพิ่มจากโรงพยาบาล ส่วนผู้บาดเจ็บที่ยังรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา 43 ราย
ขณะนี้อยู่ระหว่างเคลื่อนย้ายมาที่กองอำนายการวัดสนาม ไชย เพื่อให้แพทย์ตรวจพิสูจน์และพิมพ์ลายนิ้วมือก่อนส่งให้ญาติไปบำเพ็ญกุศลตาม ศาสนา อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ชุดค้นหาพร้อมนักประดาน้ำยังคงมุ่งมั่นค้นหาผู้สูญ หายจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสน้ำที่ยังไหลเชี่ยวตลอดเวลา
ดร.ธรณ์ แนะวิธีเอาตัวรอดจากเหตุ“เรือล่ม”สังเกต เตรียมพร้อม วิธีออกจากเรือ
จากเหตุการณ์เรือล่ม ที่ จ.อยุธยา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่องวิธีการเอาตัวรอดเมื่อเรือล่ม โดยระบุว่า “ผมอ่านข่าวเรือล่มด้วยความเศร้า ตั้งใจว่าพรุ่งนี้ในวิชา man&sea จะนำไปสอนนิสิต จึงถือโอกาสนำมาบอกเพื่อนธรณ์ด้วย เผื่อเกิดอะไรอย่างน้อยก็มีไอเดียครับ #วิธีเอาตัวรอดเมื่อเรือล่ม #ก่อนลงเรือ
โดย ดร.ธรณ์ ระบุว่า ก่อนลงเรือ ควร ตรวจสอบสภาพเรือก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นดูตัวเลขจำนวนผู้โดยสารที่ข้างเรือและสังเกตจำนวนผู้โดยสารที่ใช้ บริการจริง รวมถึงดูสภาพอากาศ คลื่น ลม พายุ และอย่าคิดฝากชีวิตไว้กับคนอื่น ตัดสินใจด้วยตัวคุณเอง อีกทั้งผู้ปกครองควรส่งลูกหลานไปเรียนว่ายน้ำ
สำหรับสิ่งที่ควรปฏิบัติ เมื่อลงเรือ ดร.ธรณ์ แนะนำว่า ให้สวมใส่เสื้อชูชีพ หากไม่มีก็ต้องหาหรือถามคนขับว่าเสื้อชูชีพอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นกฎของกรมเจ้าท่าว่าต้องมีชูชีพพอสำหรับผู้โดยสารทุกคน จากนั้นตรวจสภาพเสื้อชูชีพว่าเหมาะสมต่อการใช้ ลอยได้แน่ และมีนกหวีด หรือไม่ หากมีเด็กก็ควรเตรียมชูชีพลงเรือไปด้วย
นอกจากนี้ ควรสังเกตหาทางหนีทีไล่ทุกครั้งและทางออกที่ง่ายที่สุดคือด้านข้างของเรือ ดังนั้นควรเลือกที่นั่งที่สามารถพุ่งออกไปนอกเรือได้เร็วที่สุด นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเชือกตั้งอยู่ สุดท้ายหลังขึ้นเรือควรตั้งสติทุกครั้งที่เรือเข้า-ออกจากท่า เพราะอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และหากพบความผิดปกติให้รีบแจ้งผู้ควบคุมเรือทันที
รองคณบดีคณะประมง ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุ เรือ ล่มควรตั้งสติ อย่าพุ่งไปอยู่ทางเดียวกันเพราะจะทำให้เรือโคลงและพริกคว่ำ ควรอยู่ในที่โล่งของเรือและอย่าเพิ่งรีบลงน้ำ ดูให้แน่ใจก่อนว่าเรือล่มแน่นอนจึงรีบออกจากเรือให้เร็วที่สุด พร้อมทั้งหาของที่ลอยได้มาไว้ใกล้ตัวเพื่อใช้เกาะ และอย่าว่ายน้ำสวนกระแสเพราะจะทำให้หมดแรงและอาจไม่ถึงฝั่ง รวมถึงอย่าเข้าไปท้ายเรือเพราะใบพัดอาจยังทำงานอยู่ และควรออกไปให้ห่างเรือ เนื่องจากเรืออาจคว่ำลงมาฟาดศีรษะจนหมดสติได้
ทั้งนี้ ดร.ธรณ์ ทิ้งท้ายไว้ว่า หากสามารถหนีรอดแล้ว ห้ามเข้าไปช่วยคนอื่นแบบตัวเปล่าควรหาของลอยน้ำส่งไปให้เขาเกาะ หรือใส่ชูชีพแล้วเข้าไปช่วย หากพบเหตุหรือเจอเรือผิดระเบียบ สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วนกรมเจ้าท่า 1199 ทันที