“กรุงเทพฯ” เมืองสวรรค์อันแสน “สกปรก” (ในสายตาฝรั่ง) เมื่อ 160 ปีก่อน
ทิวทัศน์เมืองบางกอก ภาพลาดลายเส้นจากรูปถ่าย โดย เอ. โบกูรต์
“บางกอกอันทันสมัยเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยามต่อจากอยุธยาและลพบุรี เมืองหลวงซึ่งไม่ได้เก่าแก่โบราณนักอีก 2 แห่ง เมื่อรับช่วงความเป็นเมืองหลวง ก็ย่อมสืบทอดชื่อเสียงเรียงนามอย่างเป็นทางการมาด้วยเช่นกัน ชาวสยามเรียกขานเมืองนี้ว่า กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา มหาดิลกราชธานี แปลความหมายได้ว่า ราชธานีแห่งทวยเทพ เมืองสวรรค์ชั้นฟ้า นครอันงดงามและอัปราชัย ฯลฯ ช่างสรรหาถ้อยคำมานิยามนัก หากแต่จะเหมาะเจาะหรือไม่ยังกังขาอยู่… ไ
ม่มีใครเข้ายึดครองได้ด้วยกำลัง อนิจจา! บางกอกก็ดุจเดียวกับกรุงศรีอยุธยาซึ่งเคยถูกพะโคและพวกพม่าบุกเข้ามาตีจนกรุงแตก ทั้งยังปล้นสะดมไปเสียย่อยยับ งดงาม คำคุณศัพท์ขยายความนี้ก็เหมาะสมอยู่ดอก หากมองจากกลางน้ำ เห็นทั้งวัดและวังงามอร่ามเรียงราย แต่คำนี้เห็นจะใช้ไม่ได้เอาเสียเลย ยามลัดผ่านตรอกซอกซอย ย่ำลงบนโคลน เลาะล่องไปตามคลองเล็กคลองน้อยเหม็นๆ แคบๆ นับร้อยนับพันสายตัดซอยผืนดินเป็นเกาะเล็กเกาะน้อย อันเป็นที่ตั้งของกระท่อมซอมซ่อหน้าตาสกปรก ชวนบาดตาบาดใจแฉกเช่นกลิ่นที่บาดจมูก”
ที่มา: บันทึกการเดินทางของ อ็องรี มูโอต์ ในสยาม กัมพูชา ลาว และอินโดจีนตอนกลางส่วนอื่นๆ
ทั้งนี้ อ็องรี มูโอต์ คือนักสำรวจและนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาสำรวจดินแดนอุษาคเนย์เมื่อราว 160 ปีก่อน บันทึกของเขาบรรยายถึงผู้คนและสถานที่ แทรกด้วยสีสันต่างๆ และที่ทำให้เขาได้รับความสนใจมากคือบันทึกว่าด้วยการค้นพบ “นครวัด” แม้ว่าจริงๆ แล้วเขาจะไม่ใช่ชาวตะวันตกคนแรกที่เป็นคนค้นพบโบราณสถานที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้ก็ตาม