วินาทีที่ “ฉันเป็นคนไทย” BY คนญี่ปุ่น
ดิฉันถือโอกาสถามสมาชิกในวงว่า “ทุกคนคิดว่าตัวเองเหมือนคนไทยบ้างไหม ตอนไหนบ้าง” … และนี่คือที่มาของ Japan Gossip ฉบับนี้ค่ะ เรื่องราวความเป็นคนไทยของชาวญี่ปุ่นของเพื่อนดิฉัน จะเป็นอย่างไร ตามมาอ่านกันนะคะ (อาจเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลนะคะ)
เรื่องโดย : เกตุวดี www.marumura.com
วันก่อน ดิฉันไปทานข้าวกับกลุ่มเพื่อนร่วมงานญี่ปุ่นกัน 5 คน คนที่อยู่ไทยสั้นสุด คือ 1 ปี (แต่เรียนภาษาไทยที่ญี่ปุ่นมา 4 ปี เลยพูดไทยคล่องมาก โพสท์สเตตัสเฟสบุ๊คเป็นภาษาไทยได้) คนที่อยู่นานหน่อย คือ 6 ปี เป็นสาวญี่ปุ่นรักอิสระที่สามารถนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างจนคุยกับพี่วินได้อย่างคล่องแคล่ว และฝันอยากขี่มอเตอร์ไซค์เองในกรุงเทพฯ นางเปรี้ยวมาก ล่าสุด หนึ่งในสมาชิกอัพเฟสบุ๊ครูปลูกสองคนกำลังยืนกินไอติมไผ่ทองอย่างเอร็ดอร่อย
โอ….ทุกคนช่างกลมกลืนกับสังคมไทยจริงๆ
ดิฉันเลยถือโอกาสสมาชิกในวงว่า ทุกคนคิดว่าตัวเองเหมือนคนไทยบ้างไหม ตอนไหนบ้าง … และนี่คือที่มาของ Japan Gossip ฉบับนี้ค่ะ เรื่องราวความเป็นคนไทยของชาวญี่ปุ่นของเพื่อนดิฉัน จะเป็นอย่างไร ตามมาอ่านกันนะคะ (อาจเป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลนะคะ)
1. สั่งซาชิมิปลาแซลมอนมากิน (by F คุง)
ปกติ ร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไปจะไม่ค่อยเสิร์ฟแซลมอนสดๆ เท่าไร คนญี่ปุ่นไม่ค่อยทานเนื้อแซลมอนสดค่ะ ที่หาทานง่ายหน่อย คงเป็นพวกซูชิหมุน ซูชิสายพาน ภาพลักษณ์ซาชิมิ (ปลาดิบ) ในหัวคนญี่ปุ่นโดยมาก จึงมักเป็นพวกปลาทูน่า ปลาหมึก หอยเชลล์ อะไรทำนองนั้นมากกว่า
แต่พอมาเมืองไทย และโดนคนไทยลากไปทานบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นมากๆ เข้า คนญี่ปุ่นก็เริ่มชินกับแซลมอนดิบที่วางกองพะเนินให้เราโกยลงจานด้วยความรู้สึกคุ้มค่า หรือเซ็ทซาชิมิที่สั่ง ก็จะมีแซลมอนวางมาด้วยเสมอ (อีกอันที่ญี่ปุ่นไม่มี คือ ซาชิมิปูอัด….) พอหลังๆ ไปร้านอาหารญี่ปุ่น ก็เริ่มเปรี้ยวปากอยากทานแซลมอนเนื้อนุ่มหอมมัน จนสามารถสั่งซาชิมิแซลมอนมากินเองได้
2. เอะอะยกมือไหว้ (by M ซัง)
คนญี่ปุ่นที่มาทำงานที่ไทย จะถูกสอนให้รู้จักธรรมเนียมการไหว้ของไทย แถมเวลาไปที่ไหน เขาจะเห็นลูกน้องยกมือไหว้หัวหน้า หรือซัพพลายเออร์ยกมือไหว้ลูกค้า พี่แกเลยรู้สึกว่า การไหว้ เท่ากับ การโค้งแบบญี่ปุ่น ใครเคยเห็นคนญี่ปุ่นที่อยู่ไทย จะสังเกตได้ว่า พี่แกจะไหว้ดะ ตั้งแต่พนักงานร้านอาหาร ไปจนถึงรปภ.หน้าประตู (แต่ก็เป็นภาพที่น่ารักดี)
ทีนี้ เจ้าอาการไหว้นี้ ดันติดตัวกลับไปตอน M ซังบินไปประชุมที่ญี่ปุ่นด้วย เวลาพูด “ซุมิมาเซ็น (ขอโทษครับ)” เฮียก็จะติดยกมือไหว้ กลายเป็นคนมือไม้อ่อนไปทันที
(ป.ล. หากทำที่ญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ประหลาดขนาดนั้น แต่ส่วนใหญ่ คนญี่ปุ่นจะยกมือไหว้เมื่อต้องการขอร้องอีกฝ่ายให้ช่วยเหลืออะไรอย่างจริงจัง ผสมกับความรู้สึกเกรงใจ๊เกรงใจเข้าไป มักใช้คู่กับคำว่า “Onegai” )
3. ติด “ค่า….” (by S ซัง)
หากคนญี่ปุ่นไม่ทัก ดิฉันคงไม่สังเกตว่า วันๆ สตรีไทยใช้คำว่า “ค่า” กันบ่อยมาก อย่างตอนคุยโทรศัพท์ ฝ่ายโน้นบอกอะไร เราก็ “ค่าๆ” ตอบรับ หรือเราใช้คำว่า “ค่า” แทน “Yes” วันหนึ่งๆ คนญี่ปุ่นเลยได้ยินคำว่า “ค่า” เป็นล้านรอบ เป็นเสียง ค่า surround เพราะทั้งแผนก มีแต่สาวๆ พูดค่าๆๆๆๆ
พอคุยกับคนญี่ปุ่นด้วยกัน S ซังก็จะติดคำว่า “ค่า” เช่น ตอนเธอต้องนั่งแท็กซี่ที่ญี่ปุ่น คนขับถามว่า “จะขับอ้อมชินจูกุไหม รถจะได้ไม่ติด” S ซังก็เผลอตอบ “ค่า” ไปเรียบร้อย ทำเอาคุณลุงคนขับแท็กซี่เหวอไปเล็กๆ เหมือนกัน (เธอเล่าต่อว่า แถมเผลอบอก “เลี้ยวขวา” “ตรงไป” เป็นภาษาไทยด้วย อยู่ไทยนานจัดก็เงี้ย)
4. ไม่รีบไปก่อนเวลานัด 10 นาที (by K ซัง)
ปกติ ในสังคมญี่ปุ่น เราจะมีกฎที่มองไม่เห็น เป็นกฎที่คนญี่ปุ่นรู้ๆ กัน แต่ไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร หนึ่งในกฎนั้น คือ เวลานัดใคร ควรไปก่อนเวลานัดอย่างน้อย 10 นาที เผื่อไว้ เผื่อฝ่ายตรงข้ามมาถึงก่อน จะได้ไม่ต้องรอนาน เผื่อเกิดเหตุการณ์อะไร เราจะได้ไม่ไปสาย
แต่พอมาอยู่เมืองไทย K ซังก็เริ่มชินและชิวกับการนัด ฮีจะไปถึงตามเวลานัดเป๊ะ หรือไปสายเล็กน้อย เดินมาก็ยิ้มแหะๆ ไม่มีการขอโทษขอโพยเหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป
ส่วนเวลานัดใครแล้วคนคนนั้นมาสาย ส่วนมากคนญี่ปุ่นจะค่อนข้างหงุดหงิดหรือกังวล แต่ K ซังบอกว่า ผมชิวมาก ยืนเล่นมือถือรอ ไม่โกรธเลย รถติด ฝนตกหนัก ผมก็เข้าใจ เพราะบางที ผมก็ไปสายเหมือนกัน…น้าน…
++++
ต้องขอชื่นชมมิตรสหายญี่ปุ่นทั้ง 4 คนของดิฉัน และขอบอกคุณผู้อ่านทุกท่านว่า ทั้งสี่คน เป็นคนที่เอนจอยกับการอยู่เมืองไทยม้ากมาก รักเมืองไทย ชอบอาหารไทย ชอบคุยกับคนไทย และไม่ค่อยมีปัญหาในการทำงานกับคนไทยเลย สิ่งหนึ่งที่ดิฉันสังเกตและชื่นชมคือ ทุกคนพยายามทำแบบคนไทย พยายามปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย โดยไม่เอากรอบความเป็นญี่ปุ่นไปครอบ และดิฉันแทบไม่ได้ยินคำบ่นประเภท “ญี่ปุ่นไม่เห็นเป็นงี้” หรือ “ญี่ปุ่นไม่ทำแบบนี้หรอก” จากเพื่อนๆ เลย ทุกคนเห็นความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและไลฟ์สไตล์เป็นเรื่องปกติ และสนุกไปกับการเรียนรู้ สนุกกับการใช้ชีวิตในเมืองไทยค่ะ
เรื่องโดย : เกตุวดี www.marumura.com
ทักทายพูดคุยกับเกตุวดี ได้ที่ >>> เกตุวดี Marumura