กรีนพีซเผย 10 เมืองของประเทศไทยพบฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน เชียงใหม่ ติดอันดับ 1
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยข้อมูลการจัดอันดับเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงสุด 5 อันดับคือ เชียงใหม่ ลําปาง ขอนแก่น กรุงเทพฯ และราชบุรี
7 กันยายน 2559 นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) โดยข้อมูลสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองของกรมควบคุมมลพิษพบว่ามี 12 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตามตรวจสอบและรายงานค่า PM 2.5 ในพื้นที่ 10 จังหวัด โดยการประมวลผลระหว่างเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2559 พบว่า
เชียงใหม่มีค่าฝุ่นละอองเฉลี่ยรายปี 42 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนและเริ่มลดลงในช่วงฤดูฝน สาเหตุมาจากปัญหามลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน การจราจรในเมือง และการเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง ส่วนอันดับรองลงมา คือ
ลำปาง 39 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขอนแก่น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
กรุงเทพมหานคร บริเวณเขตดินแดง 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ราชบุรี 32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
กรุงเทพมหานครบริเวณเขตวังทองหลาง 28 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สมุทรสาคร 27 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ระยอง 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ชลบุรี 21 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
กรุงเทพมหานคร บริเวณเขตพญาไท 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
สงขลา 23 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในพื้นที่
สระบุรีมีค่าเฉลี่ยสูงสุดของประเทศ แต่ปีนี้เครื่องตรวจวัดเสียจึงไม่สามารถเก็บข้อมูลค่าฝุ่นละอองได้ ภาพรวมถือว่าค่าเฉลี่ยสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ อยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนเป็นสิ่งที่เล็กเกินมองเห็น แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่กรมควบคุมมลพิษไม่ควรมองข้ามคือ ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะ บอกว่าอากาศที่เราหายใจเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราหรือไม่อย่างไร”
ฝุ่นละออง มาจากภาคการขนส่ง การผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิต ที่อยู่อาศัย ธุรกิจการค้า และการเผาในที่โล่ง แบ่งได้เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและฝุ่นที่เกิดจากการรวมตัวของ ก๊าซและมลพิษอื่นๆ ในบรรยากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจน ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ยังเป็นมลพิษข้ามพรมแดนและปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศได้นาน เป็นฝุ่นอันตรายไม่ว่าจะมีองค์ประกอบทางเคมีใดๆ ก็ตาม เช่น ปรอท แคดเมียม อาร์เซนิก หรือโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) เป็นต้น ในปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลก(WHO) จึงกำหนดอย่างเป็นทางการให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า "ฝุ่นที่เราคิดว่าไม่มีอันตรายอะไร แต่แท้จริงฝุ่นขนาดเล็กมากอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งบางชนิดได้ ฝุ่นพิษขนาด 2.5 ไมครอน นั้นเล็กมากจนสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ดังนั้นฝุ่นพิษจึงเป็นตัวนำสารพิษสู่ร่างกายโดยเข้าไปอุดตันในเส้นเลือด และนอกจากเป็นปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งแล้ว ยังทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดสมองอุดตันได้ด้วย”
ดัชนีคุณภาพอากาศที่ใช้อยู่ในประเทศไทยขณะนี้ คำนวณโดยเทียบจากมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปของสารมลพิษทางอากาศ 5 ประเภท ได้แก่ ก๊าซโอโซน (O3) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) เฉลี่ย 1 ชั่วโมง ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เฉลี่ย 8 ชั่วโมง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง และปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษเพียง 12 สถานีใน 10 จังหวัดทั่วประเทศที่สามารถติดตามตรวจสอบและรายงานค่า PM2.5
จริยา เสนพงศ์ กล่าวสรุปว่า ”แทนที่จะเอื้อให้กับผู้ปล่อยมลพิษ รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมือดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อทำ ให้อากาศดีคืนมาและรับประกันถึงสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงอากาศสะอาด"