Cyber Bully เมื่ออินเทอร์เน็ตเปลี่ยนการกลั่นแกล้งให้เจ็บกว่า
ในอดีตคุณหลีกหนีการกลั่นแกล้งโดยการถอนตัวจากสภาพแวดล้อมที่เจ็บปวด
แต่เมื่อโลกออนไลน์ตามติดคุณไปทุกที่ปราศจากขอบเขต จะมีที่ไหนให้คุณหนีได้อีก?
ช่วงหน้าร้อน(ฝรั่ง) ที่ผ่านมา สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) หรือ APA ถกเถียงกันด้วยวาระพิเศษในแวดวงจิตวิทยา (แต่ไม่ใหม่สำหรับโลก) คือประเด็นการกลั่นแกล้งและการทำให้เป็นเหยื่อ (Bullying and victimization) ซึ่งจะว่าไปแล้ว 2 สิ่งนี้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของอารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ท่ามกลางประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ พวกเราใช้มาตรการ ‘สร้างความอับอายต่อสาธารณะ’(Public Humiliation) เพื่อประจานพฤติกรรมของใครสักคนจากความนอกคอกที่มุ่งทำลายครรลองสังคมของคนหมู่มาก มนุษย์รู้ดีว่าความเจ็บปวดจากความละอายนั้นแสบสันกว่าและมีประสิทธิภาพกว่าในการลงโทษ อารมณ์จากความละอายนั้น เป็นผลจากการทำงานอันซับซ้อนของสมองประมวลผลด้วยปัจจัยร้อยแปด นักจิตวิทยากล่าวว่า “ความละอายคืออารมณ์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มนุษย์พึงมี”
ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชุมชนแถบเมดิเตอร์เรเนียนโบราณจะทำให้ชายหนุ่มอับอายด้วยการ ‘ถอนขนเพชร’ หญิงสาวจะถูกประทับตราหรือโกนผมหากมีพฤติกรรมคบชู้ ผู้ต้องหาจะต้องถูกสวมหมวกกรวยสูงในยุคกลางในระหว่างการไต่สวน ชาวยิวจะถูกติดตราดาวเหลือง (Yellow badge) เพื่อคัดแยกเชื้อชาติโดยพรรคนาซี หรือแม้กระทั่งราชวงศ์สยามในอดีต ขังประจานเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทร์และครอบครัวให้ประชาชนสาปแช่งแบบถึงเนื้อถึงตัว เพื่อกำราบในข้อหา ‘กบฏ’
แต่มาถึงยุคอินเทอร์เน็ต อะไรทำให้มันไปไกลกว่าเดิม?
นักจิตวิทยาเด็กที่ศึกษาการกลั่นแกล้งอย่าง Susan Swearer นับว่าเธอเป็นคนแรกๆ ที่จับปรากฏการณ์กลั่นแกล้งในโรงเรียนและ Cyber bully จากประสบการณ์ของการเป็นครูโดยตรง ซึ่งกว่าวงการจิตวิทยาจะเริ่มเข้าใจกลไกของการกลั่นแกล้งในเด็กก็ล่วงเลยมาปี 1997 ในยุคนั้นสหรัฐอเมริกามีเพียง 4 รัฐเท่านั้นที่มีกฎหมายจัดการกับพวกมีพฤติกรรมชอบกลั่นแกล้งหรือ Internet Troll
แต่ประเด็นที่จุดความสนใจของผู้คนทั่วโลก ได้เห็นความร้ายกาจของ Bully ในโรงเรียน สามารถเปลี่ยนเป็นฉากนองเลือดได้ คือเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนไฮสคูลโคลัมเบีย (Columbine High School Massacre) สะเทือนขวัญคนทั้งโลก เมื่อ 2 มือปืนนักเรียนหนุ่ม Eric Harris และ Dylan Klebold ลั่นไกอาวุธกึ่งอัตโนมัติใส่เพื่อนนักเรียนด้วยกัน เสียชีวิตไป 13 ศพ และบาดเจ็บกว่า 24 คน
คนทั่วโลกแทบหยุดหายใจ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การก่อการร้ายจากองค์กร ไม่มีการเรียกร้องใดๆ ไม่ใช่จากคนเสียสติบ้าเลือด แต่เป็นเพียงนักเรียนธรรมดาๆ ครอบครัวชนชั้นกลาง ซึ่ง Eric Harris และ Dylan Klebold ไม่ใช่คนที่ป็อบปูล่าในหมู่เพื่อนนักเรียนอยู่แล้ว และเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งในโรงเรียนบ่อยครั้ง เพราะพวกเขาเป็นพวกเนิร์ดที่ขลุกตัวในห้องคอมพิวเตอร์โรงเรียนทั้งวัน
ผู้คนตั้งคำถามไปในทิศทางเดียวกันว่า อะไรเปลี่ยนเด็กชายให้กลายเป็นฆาตกร และจริงๆ แล้วพวกเราแทบไม่รู้จักการกลั่นแกล้งเลย (เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นกรณีศึกษาชิ้นแรกๆ ของเหตุ Mass Shootingในโรงเรียนอีกด้วย)
เมื่อสังคมเป็นผู้เรียกร้องหาคำตอบ นักจิตวิทยาจึงพยายามตอบปรากฏการณ์ตลอดในรอบ 20 ปี เพื่ออธิบายการกลั่นแกล้งที่เปลี่ยนสนามมาสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
อย่างที่ทราบกัน วิถีแห่งการกลั่นแกล้ง (Bullying) คือความไม่เท่าเทียมของพลวัตรทางอำนาจ ความแข็งแกร่งเล่นงานความอ่อนแอเกิดขึ้นได้ในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรงโดยตรงด้วยกำลัง การใช้คำหยาบคายดูหมิ่น หรือจัดการด้วยความสัมพันธ์ให้พังทลาย โดยการปล่อยข่าวลือ เหยียดหยามรสนิยม ขุดปูมอดีต หรือขับไล่ออกจากสังคมนั้นๆ
แต่ Cyberbully มีแนวโน้มความร้ายกาจกว่า เพราะมีมิติด้านเวลามาเกี่ยวข้อง ความเกลียดชังสามารถทิ้งเหมือนกับระเบิดโดยที่เจ้าตัวสามารถมาเหยียบเอาในภายหลังได้ อย่างในอดีตคุณหากจะด่าใครสักคนก็ต้องอาศัยจังหวะที่อยู่ต่อหน้า
แต่อินเทอร์เน็ตทำลายข้อจำกัดนั้นลง คุณจึงสามารถลุกขึ้นมาหาเรื่องด่าคนตอนเที่ยงคืน เพื่อให้เจ้าตัวมาอ่านเอาตอนเช้า แถมมีสักขีพยานเป็นชาวสังคมออนไลน์ที่กระเ...้ยนกระหือรือเสพเรื่องดราม่าคาวๆ ในทุกเช้าเพื่อกินร่วมกับกาแฟ
การกลั่นแกล้งมักมีความต่อเนื่อง มาเป็นซีรีส์ กินระยะเวลานาน และมีการโจมตีเป้าหมายซ้ำๆ ซึ่งเหยื่ออาจมีหลายคนในคราวเดียวกัน แต่ที่น่าสนใจคือ เหยื่อของ Cyberbully ก็มีความพร้อมที่จะกลายเป็น ‘ผู้ก่อการ’ ได้ต่อไป เพื่อส่งต่อความเกลียดชังไปให้คนอื่นราวโรคระบาด Cyberbully จึงมีศักยภาพเป็น Viral ที่แพร่กระจายได้กว้าง เข้าถึงกลุ่มคนหลายสถานะในเวลาอันสั้น
เมื่อ Cyberbully ไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่ ไม่มีเวลาจำกัด แพร่กระจายได้ มันจึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กเท่านั้น แต่ส่งผลถึงผู้ใหญ่วัยทำงานจนทำให้ชีวิตปั่นป่วน (ในยุคแรกๆ Cyberbullyมักถูกมองเป็นความไร้สาระ และมีอิทธิพลเพียงในโรงเรียนเท่านั้น แต่ทุกวันนี้คุณก็เห็นแล้วว่าเป็นเรื่องใหญ่)
ปี 2012 งานวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัย Nottingham และ Sheffield ในอังกฤษ สำรวจพบว่า มีคน 8 ใน 10 เคยมีประสบการณ์ถูก Cyberbully ในรอบ 6 เดือนมาแล้ว และกว่าครึ่งที่ยอมรับว่ารู้สึกแย่ เครียด ถูกเมินเฉยจากคนรอบข้างอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์
แต่ผู้ใหญ่วัยทำงานกลับเลวร้ายกว่า เพราะส่วนใหญ่ไม่กล้ารายงานว่าถูก Cyberbully กับผู้บังคับบัญชา เพราะกลัวจะสูญเสียตำแหน่งหน้าที่ จึงยอมถูกกลั่นแกล้งต่อไปจนถึงจุดที่ทนไม่ได้จึงค่อยลาออกจากงาน
อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนสนามของการกลั่นแกล้งให้ร้ายกาจ ไร้ทางออก และยากที่จะชี้ตัวผู้ก่อเรื่อง
มันจึงกลายเป็นเครื่องมือที่บั่นทอนทรงประสิทธิภาพที่สุดในรอบ 100 ปี
อ้างอิงข้อมูลจาก
bornthisway.foundation/author/sueswearer/