'ไทย' ไม่ได้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวกทม.ดินอ่อน-ทุกเมืองใหญ่มีรอยเลื่อน?
'ไทย' ไม่ได้ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวกทม.ดินอ่อน-ทุกเมืองใหญ่มีรอยเลื่อน
----------------------------------------
เวที สกว.ถอดบทเรียนแผ่นดินไหว “อิตาลี-เมียนมา” นักวิชาการชี้ไทยไม่ปลอดภัยแผ่นดินไหว แนะเตรียมความพร้อมอาคาร-ศึกษารอยเลื่อนในประเทศ เผย กทม.ตั้งอยู่บนดินอ่อน เป็นเหตุรับรู้แรงสั่นไกล
ผศ.ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยในการแถลงข่าว “แผ่นดินไหวในอิตาลี-เมียนมา ผลกระทบต่อตึกสูง-โบราณสถานในประเทศไทย” โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตอนหนึ่งว่า คำกล่าวที่บอกว่าประเทศไทยปลอดภัยจากแผ่นดินไหวนั้นไม่เป็นความจริง เพราะไทยเองก็นับว่ามีความเสี่ยงและเคยเกิดขึ้นแล้วกว่า 10 ครั้ง แต่ทุกครั้งเราโชคดีตลอดเพราะเกิดการสั่นไหวขึ้นห่างไกลพื้นที่ชุมชน แต่เราไม่รู้ว่าจะรับมืออยู่บนความโชคดีได้อีกนานเพียงใด ดังนั้นการเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ผศ.ภาสกร กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่มีพลังอย่างน้อย 14 จุด และทุกจุดล้วนมีศักยภาพในการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6 ขึ้นไป ซึ่งหากเกิดขึ้นใกล้กับเมืองก็จะเกิดความเสียหายที่ตามมามหาศาล นอกจากนี้ยังมีข้อมูลหลายอย่างที่บ่งชี้ว่าเกือบทุกเมืองใหญ่ในไทยมีรอยเลื่อนอยู่ แต่ไม่เคยมีการศึกษาว่ารอยเลื่อนเหล่านั้นมีพลังหรือศักยภาพในอนาคตหรือไม่ เพราะการมีรอยเลื่อยไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดแผ่นดินไหวเสมอไป ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษา
“สิ่งที่เราไม่ทราบคือรอยเลื่อนทั้งหมดในไทยมีการสะสมพลังงานไปมากน้อยเพียงใด อย่างเช่นเหตุการณ์ที่ จ.เชียงราย ก็ไม่เคยมีใครคาดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นตรงนั้น ดังนั้นจึงมีข้อมูลอีกมากที่เราจำเป็นต้องศึกษา” ผศ.ภาสกร กล่าว
ผศ.ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเสียหายจากแผ่นดินไหวนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ถ้าสร้างอาคารให้แข็งแรง และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็ชัดเจนว่าแผ่นดินไหวสามารถกระทบกับประเทศไทยได้ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องออกแบบอาคารให้สามารถรับมือแผ่นดินไหวได้ด้วย โดยเฉพาะอาคารสูงจำเป็นต้องมีคอนกรีตเสริมเหล็กและขนาดเสาที่ใหญ่เพียงพอ รวมถึงไม่ควรมีรูปทรงที่แปลกมากเพราะจะมีความมั่นคงแข็งแรงน้อยกว่าอาคารรูปทรงปกติ หรือไม่ควรมีชั้นใดที่อ่อนแอมากกว่าชั้นอื่น
ผศ.ฉัตรพันธ์ กล่าวอีกว่า แม้ในปัจจุบันจะมีกฎหมายอยู่ แต่จำเป็นต้องเกิดการบังคับใช้ให้เคร่งครัด โดยวิศวกรและผู้ก่อสร้างจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด พร้อมมีหน่วยงานที่หมั่นตรวจสอบ ตลอดจนมีการประเมินความแข็งแรงของอาคารที่สำคัญต่อการบรรเทาสาธารณภัย อาทิ สถานีดับเพลิง โรงพยาบาล และจัดทำแผนปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินและซ้อมปฏิบัติจริง
รศ.นคร ภู่วโรดม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมาครั้งนี้มีการรับรู้เป็นวงกว้างตั้งแต่เมียนมาไปจนถึงบังคลาเทศ รวมถึงตามเมืองใหญ่ๆ เช่น โกลกาตา ย่างกุ้ง หรือกรุงเทพฯ ซึ่งสิ่งที่เมืองเหล่านี้มีคล้ายกันคือตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดใหญ่ และมีลักษณะพื้นดินที่อ่อนมาก จึงมีคุณสมบัติให้คลื่นพลังงานขยายตัวได้มากกว่า เป็นเหตุผลว่าทำไมอยู่ไกลแต่สามารถรู้สึกได้
รศ.นคร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ในแง่การออกแบบทางวิศวกรรม อาคารที่อยู่บนดินอ่อนจำเป็นต้องมีความระมัดระวังในการออกแบบมากกว่าดินแข็งหลายเท่าตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องครอบคลุมในมาตรฐานการออกแบบของประเทศไทย แต่ปัญหาคือเรายังขาดข้อมูลอีกจำนวนมาก จึงอยากเสนอแนะให้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดการสั่นสะเทือนบนพื้นดินและอาคาร และศึกษาพฤติกรรมการขยายคลื่นจากแอ่งดินในเขตเมืองใหญ่มากกว่านี้
“หากเราสามารถประเมินได้ว่าอาคารแต่ละหลังมีความเสี่ยงอย่างไรบ้าง การหยุดชะงักทางธุรกิจก็อาจไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้น จากการที่ต้องให้คนออกนอกอาคารเนื่องจากไม่มั่นใจในความปลอดภัย” รศ.นคร กล่าว
นายธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความแตกต่างของแผ่นดินไหวที่ประเทศอิตาลีและพม่าคือความลึก แม้ที่พม่าจะเกิดใหญ่กว่าแต่ความลึกทำให้พลังงานถูกดูดซับและส่งออกมาได้น้อยกว่า แต่ด้วยความลึกนั้นก็ทำให้ขนาดของคลื่นใหญ่กว่า และสามารถกระจายไปได้ไกลกว่า จึงเป็นเหตุผลว่าเหตุใดประเทศไทยและอินเดียสามารถรับรู้ได้ ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ปกติ
“จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าการสั่นของคลื่นที่วัดได้จากสองเหตุการณ์ คือที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557กับที่พม่าเมื่อวานนี้ เปรียบเทียบกันแล้วที่พม่าส่งผลกับกรุงเทพฯ แรงกว่าที่เชียงรายเล็กน้อย แม้ไม่รุนแรงมากจนทำให้โครงสร้างอาคารเสียหาย แต่ก็ทำให้เราเกิดความตื่นตัวเรื่องของแผ่นดินไหวอีกครั้ง และทุกครั้งก็จะเกิดคำถามว่าอาคารของเราปลอดภัยไหม แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะจำเป็นต้องมีเครื่องมือวัดความสั่นไหวของอาคาร” นายธีรพันธ์ กล่าว
----------------------------------------