บทความพิเศษ เรื่อง จุลินทรีย์ช่วยให้ดินดีมีอยู่ในธรรมชาติ...ไม่ต้องซื้อ..ไม่ต้องหา
ในทางจุลชีววิทยานักวิทยาศาสตร์พยายามที่จะคัดเลือก ค้นหาจุลินทรีย์ที่ดีมีคุณภาพเพื่อนำมาใช้ในวงการเกษตร โดยเฉพาะเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช ปัจจุบันนั้นก็ถือได้ว่าเริ่มมีการใช้จุลินทรีย์ชีวภาพในการป้องกันกำจัดโรคแมลงมากขึ้นในภาคสนาม เทียบกับเมื่อประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาครัฐที่นำโดยกรมพัฒนาที่ดินในรูปแบบของ พ.ด. เบอร์ต่างๆ และก็ตามมาด้วยกรมส่งเสริมการเกษตรที่สอนให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า (Tricoderma Harzianum spp.) และราขาว บิวเวอร์เรีย (Beauveria Bassiana spp.) กับเมล็ดธัญพืชอย่างข้าวฟ่าง ข้าวโพด แล้วนำมาคัดกรองด้วยผ้าข้าวบาง แล้วนำไปฉีดพ่นในแปลงไร่มันสำปะหลัง ในแปลงนาข้าว และสาขาอาชีพอื่นๆที่มีปัญหาจากศัตรูพืชตระกูลเพลี้ยต่างๆ
สำหรับส่วนในนามนักวิชาการก็มีท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ที่ส่งเสริมเรื่องการใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้ยาฆ่าแมลง ซึ่งเรียกว่าอาจจะก่อนหน่วยงานภาครัฐเสียด้วยซ้ำ โดยเริ่มมาตั้งแต่การเพาะเห็ดในอดีตหลายสิบปี และก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ จนเป็น บีทีชีวภาพ ปราบหนอน, บีเอส พลายแก้ว ปราบโรคแคงเกอร์ในพืชตระกูลส้ม มะนาว ราเขียว ราดำ ราเมือก ในเห็ด, ไมโตฟากัส ปราบไร, ทริปโตฝาจ ปราบเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟไรแดง เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และ เมธาไรเซียม ปราบปลวกร้ายในอาคารบ้านเรือน ซึ่งจุลินทรีย์ชีวภาพที่ใช้ปราบโรคแมลงศัตรูพืชนี้ จะต้องผ่านการวิเคราะห์วิจัยทดสอบถึงประสิทธิภาพประสิทธิผลในการสร้างสารหรือท๊อกซินยับยั้ง โรคแมลงศัตรูพืชต่างๆ ให้ได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ โดยในนามภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในตอนนั้นท่านอาจารย์ดีพร้อมฯ ได้ให้นิสิต นักศึกษาช่วยกันวิเคราะห์ วิจัยทำการทดลองและทดสอบยาวนานหลายปีกว่าจะได้จุลินทรีย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายๆกว่าจะได้จุลินทรีย์ดีๆสักตัวเข้ามาใช้ในการเกษตร
ส่วนจุลินทรีย์ท้องถิ่น (Normal Flora) ที่อยู่กันแบบพึ่งพิงอิงอาศัย (Symbiotic Relationship) ช่วยดูแลคุ้มครองป้องภัยมิให้โรคแมลงต่างๆ เข้ามาทำลายพืชที่พี่น้องเกษตรกรเพาะปลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะประกอบไปด้วยกลุ่มของ รา แบคทีเรีย โปรโตซัว แอคทิโนมัยซีท มัยคอร์รัยซ่า อื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นจุลินทรีย์ตัวดี ไม่ทำลายพืชที่เกษตรกรเพาะปลูก
การเลือกดินขุยไผ่ ดินจากป่าสมบูรณ์ ดินจากหน่อกล้วย ดินจากตอซังฟางข้าว ที่ไม่ใช้สารเคมีที่เป็นพิษ โดยพยายามเลือกระบบนิเวศที่สะอาดปราศจากโรคภัยรบกวนพืช เราก็จะได้จุลินทรีย์ชนิดดีเยอะแยะมากมาย แล้วนำมาขยายจำนวนให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนิยมกากน้ำตาลซึ่งในอดีตเป็นของเหลือใช้ราคาถูก แต่ถ้าไม่มีจริงๆ การใช้น้ำตาลปิ๊ป น้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าว ก็ใช้ได้ด้วยเช่นเดียวกัน
การนำมาขยายก็ใช้ในอัตราดินป่าสมบูรณ์จากแหล่งระบบนิเวศต่างๆ ไม่ว่าจะหน่อกล้วย ขุยไผ่ ฯลฯ ด้วยอัตรา 3 ส่วน กับกากน้ำตาล 1 ส่วน ก็จะได้จุลินทรีย์ท้องถิ่นชนิดดี ที่คอยทำหน้าที่คุ้มครองป้องภัยให้กับพืชด้วย แต่หน้าที่ที่โดดเด่นจะเป็นเรื่องของการย่อยสลายเศษซากอินทรีย์วัตถุเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสามารถทำหน้าที่ทดแทนจุลินทรีย์จากญี่ปุ่น จากยุโรป อเมริกาได้อย่างสบาย จัดได้ว่าเป็นจุลินทรีย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะตามหลักของสิ่งมีชีวิตนั้น ถิ่นใครก็ถิ่นมัน อยู่ถิ่นไหนก็เก่งถิ่นนั้น จุลินทรีย์ไทยแลนด์ ลงสู่แปลงนาไทยแลนด์ ย่อมทำงานได้รวดเร็ว ทะมัดทะแมงกว่าจุลินทรย์ที่มาจากเมืองนอกเมืองนาอย่างแน่นอน
จุลินทรีย์ที่โด่นเด่นอย่างมากในเรื่องของการย่อยสลายอินทรียวัตถุโดยเฉพาะเศษตอซังฟางข้าว เซลลูโลส ลิกนิน เฮมิเซลลูโลส ฯลฯ นั่นก็คือจุลินทรีย์สัตว์เคี้ยวเอื้อง (วัว ควาย แพะ แกะ เก้ง กระจง จิงโจ้ ยีราฟ อูฐ) การนำมูลวัว มูลควายสด 2 กิโลกรัม หมักกับน้ำสะอาด 20 ลิตร กากน้ำตาล 10 ลิตร ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูก (ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร) หมักไว้ 7 วันก็นำมาใช้งานได้แล้ว แถมหมักขยายได้เหมือนกับอีเอ็ม ทำงานทดแทนอีเอ็มได้สบาย จุลินทรีย์จากสัตว์เคี้ยวเอื้องเหล่านี้ โดดเด่นมากในเรื่องการย่อยสลายเศษซากอินทรียวัตถุในการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ เป็นจุลินทรีย์เจ้าถิ่นที่ดีและมีประโยชน์มาก
ดังนั้นจุลินทรีย์ขี้ควาย จุลินทรีย์ขุยไผ่ จุลินทรีย์หน่อกล้วย จุลินทรีย์ตอซังฟางข้าว จุลินทรีย์จากระบบนิเวศที่ดี ก็คือจุลินทรีย์ที่สามารถช่วยปรับปรุงบำรุงดินของเราให้ดี ถ้าเราหมั่นเติมราดรดโดยตรงหรือใส่ไปพร้อมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ โดยไม่ต้องไปเชื่อใคร เพราะจุลินทรีย์ไทยแลนด์ ลงสู่แปลงเรือกสวนไร่นาเกษตรกรไทยแลนด์ย่อมดีกว่าแน่นอนครับ และที่สำคัญเราสามารถผลิตได้ด้วยลำแข้งของตนเองไปตลอดชีวิต....โดยไม่ต้องซื้อ…
สนับสนุนบทความโดยนายมนตรี บุญจรัส
กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกรีน อะโกร จำกัด (ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ)
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการคำปรึกษา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้โดยตรงที่ 02 986 1680-2
สอบถามข้อมูลข่าวได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 0 2000 8499 , 081 732 7889