ทหาร-ป่าไม้แจ้งจับ 4 แกนนำม็อบม้งขัดขวางการปฏิบัติงาน-ปิดถนนห้ามรื้อรีสอร์ทภูทับเบิก
เจ้าหน้าที่ถูกปิดถนนทางขึ้น-ลงภูทับเบิกในวันที่ 20 สิงหาคม 2559
ทหารกอ.รมน.ประสานเจ้าหน้าที่ป่าไม้แจ้งจับแกนนำม้งภูทับเบิก 4 รายนำชาวบ้านกว่า 100 ปิดถนนไม่ให้เจ้าหน้าที่ขึ้น-ลงขณะปฏิบัติหน้าที่รื้อถอนรีสอร์ทภูทับเบิก เผยระดมญาติพี่น้องรื้อกันเองเพราะค่ารื้อถอนของเจ้าหน้าที่เจ้าของรีสอร์ท ต้องรับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ได้ประสานการปฏิบัติกับนายชิต อินทระนก เจ้าพนักงานป่าไม้อาวุโส ในฐานะผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 35/59 ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.หล่มสัก ให้ดำเนินคดีกับแกนนำผู้ที่ก่อเหตุชุมนุมปิดถนนภูทับเบิก เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม บริเวณทางแยกขึ้นจุดสูงสุด หมู่ 16 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ 4 คน ประกอบด้วย นายพรชัย บัญชาสวรรค์,นายปิยะวัฒน์ แซ่เถา,นายมงคล เถารัตระกุล และนายพัชรพล ทรงศาสตร์ปริญญาวงค์ เจ้าของคานาอัน รีสอร์ท ที่ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปรื้อถอน และร่วมกันปิดถนน
พ.อ.พงษ์เพชรกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่ 3 คน ขึ้นไป โดยนำไม้ เสาปูน มาปิดกั้นถนน กีดขวางการจราจร ปิดกั้นทางหลวง ซึ่งอาจเกิดอันตรายกับประชาชน และทรัพย์สินได้ นอกจากนี้ยังอ้างว่าหากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องจะไม่ยอมเปิด เส้นทางที่ปิดกั้นอยู่
สำหรับการแจ้งความร้องทุกข์ได้นำหลักฐานภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว และคำสั่งปฏิบัติหน้าที่ เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดีด้วย
ภูทับเบิกดั้งเดิมคือไร่ปลูกกระหล่ำที่มีชื่อเสียงและอากาศดีมาก
ชาวม้งรวมตัวปิดถนนไม่ให้เจ้าหน้าที่ขึ้น-ลง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม เจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการรื้อถอนรีสอร์ตเป็นวันที่ 2 โดยกระจายกำลังเข้ารื้อถอนรีสอร์ทอีก 2 แห่งคือสานฝัน รีสอร์ทและคานาอัน รีสอร์ท ในขณะปฏิบัติการรื้อถอนโรงเตี๊ยมรีสอร์ทก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ปรากฎว่ามีกลุ่มชาวม้งกว่า 100 คน รวมตัวกันปิดถนนไม่ให้เจ้าหน้าที่ที่มารื้อบ้านพักรีสอร์ทลงจากภูทับเบิก
ชาวม้งจำนวนหนึ่งนำสิ่งของและขอน ไม้มาวางขวางทางปิดถนนจุดบริเวณทางขึ้นจุดชมวิวจุดสูงสุดของภูทับเบิกเพื่อ ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้า - ออก และกดดันให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการดังกล่าว
เมื่อสอบถามถึงสาเหตุการรวมตัวต่อต้านปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ได้รับการเปิดเผยจาก ว่าที่ร้อยตรีทศพล โรจน์ธนากร เปิดเผยว่า ตนเป็นชาวเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูทับเบิกมาตั้งแต่เกิด ได้ร่วมกับพี่น้องอีก 2 คน รวมทั้งพ่อไปกูหนี้ยืมสินมาสร้างรีสอร์ท บ้านพัก ร้านกาแฟ รวม 16 หลัง ในพื้นที่ของตนเองซึ่งรัฐจัดสรรให้ 2 ไร่
ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่สั่ง ดำเนินคดีและให้รื้อรีสอร์ท แต่ตนก็ไม่รื้อเนื่องจากว่าบ้านอยู่ตรงนี้หากรื้อแล้วก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ ไหน เงินลงทุนก็เสียหายแถมยังมีหนี้สินที่ต้องรับผิดชอบ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งรื้อถอนรีสอร์ตของพวกตน
นายมงคล แซ่เถาว์รัตนกูล ที่มีบ้านพักหรือรีสอร์ทที่จะต้องถูกทุบแต่ยังไม่ถึงคิว บอกว่าได้ความกดดันจากป่าไม้เป็นอย่างยิ่ง เดิมทำกะหล่ำปลีแต่พอรัฐบอกว่าเป็นผักสารเคมี จึงหันมาประกอบกิจการรีสอร์ทกลับกลายเป็นรุกป่าและลุ่มน้ำจึงร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ทบทวนคำสั่งมาตรา 44 เนื่องจากเราชาวม้งกำลังได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของทางเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ ทำอยู่ในขณะนี้
จากนั้นเจ้าหน้าที่เข้าเจรจากับกลุ่มปิดถนน พร้อมทั้งเรียกระดมกำลังเสริมจากพื้นราบขึ้นไปเพื่อระงับเหตุ
ภูทับเบิก เพชรบูรณ์ได้รับการพัฒนาจากบรรดานายทุนและชาวม้งกลายเป็นรีสอร์ทที่ทำรายได้เพราะมีผู้นิยมเดินทางไปพักแรมมาก
ผู้ว่าฯให้เวลารื้อถอนถึง 29 สิงหาคม
เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 22 สิงหาคม ที่ หอประชุมอำเภอหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานผู้ประกอบการรีสอร์ทภูทับเบิกมาประชุม เพื่อชี้แจงขั้นตอนและวิธีการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาภูทับเบิก โดยนายวันชัย ชยางรมณ์ ผู้แทนผู้ประกอบการรีสอร์ท และนายชาญวิทย์ เฟื่องฟูกิจการ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายสมาคมพ่อค้าม้งมาร่วมรับฟังเท่านั้น
นายบัณฑิตย์ กล่าวว่า มาตรการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการรื้อถอนนั้น ยังเดินหน้ารื้อถอนรีสอร์ท 19 รายต่อไป เนื่องจากศาลมีคำสั่งพิพากษาสิ้นสุดแล้ว โดยขอให้นายวันชัยทำเข้า ใจกับชาวบ้าน ว่าทางการต้องดำเนินการตามกฎหมาย จังหวัดจะให้เวลา 7 วัน สำหรับการรื้อถอนเอง หลังครบ 7 วันคือวันที่ 29 สิงหาคมนี้ชุดปฏิบัติการจะลงพื้นที่ทำการรื้อถอนอีกครั้ง
ส่วนรีสอร์ทที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวนจะต้องดำเนิน การเช่นกัน แต่จะดำเนินการเฉพาะผู้กระทำผิดกฎหมายเท่านั้น ซึ่งไม่กระทบกับประชาชนชาวทับเบิกแต่อย่างใด
ชาวม้งกว่า 100 คนรวมตัวกันปิดถนนขึ้น-ลงไม่ให้รื้อถอนรีสอร์ท เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม
ม้งระดมญาติพี่น้องรื้อถอนเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เจ้าของรีสอร์ทรื้อถอนเองภายในวันที่ 29 สิงหาคม ต่อมาวันที่ 23 สิงหาคม ชาวม้งเจ้าของรีสอร์ทเริ่มรื้อถอนกันเอง โดยเฉพาะคานาอัน รีสอร์ท มีการระดมญาติพี่น้องประมาณ 30 คน เข้ามาช่วยกันรื้อถอน และเนื่องจากโครงสร้างเป็นเหล็กจึงมีการใช้แก๊สตัดออก
นายบัณฑิต เทวีทิวารักษ์ กล่าวว่า การใช้เครื่องจักรรื้อถอนยังมีความจำเป็น ซึ่งทางฝ่ายรื้อถอนกับฝ่ายโยธาธิการจังหวัดจะประเมินว่า จะใช้เครื่องจักรชนิดใดเพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ หากไม่ใช้เครื่องจักรจะใช้เวลากี่วันความยุ่งยากความล่าช้าย่อมต้องเกิดขึ้น แน่นอน
ทั้งนี้ในช่วง 2 วันที่เจ้าหน้าที่ทำงานภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและด้วยความสุภาพ มีการช่วยงัดช่วยรื้อขนของวางเรียงแยก จะมีบาง ส่วนเท่านั้นที่ใช้เครื่องจักรเพราะโครงสร้างเป็นเหล็กตัวซี และเศษวัสดุก็จัดเก็บให้ดูเรียบร้อยไม่อยากให้มีภาพเศษกองวัสดุใหญ่จากการ รื้อถอนถูกกองไว้
ทางด้านนายชาญวิทย์ เฟื่องฟูกิจการ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายสมาคมพ่อค้าม้งไทย และที่ปรึกษากลุ่มผู้ประกอบการชาวม้งภูทับเบิก กล่าวว่า หลังการประชุมแล้วชาวบ้านเกิดความสิ้นหวัง เวลานี้กำลังรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างด้วยน้ำตา เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย คงจะต้องปล่อยให้เลยตามเลย หากจะสู้ต่อไปยิ่งสู้ก็ยิ่งรุนแรง
ส่วนเรื่องมาตการเยียวยาหากรัฐบาลมีความจริงใจ และทำเรื่องนี้จริงจังมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นตลอดรวมทั้งการจะ ดำรงชีพต่อไปของเขา ซึ่งจริงๆก็อยากให้ส่งเสริมการดำรงชีพเพราะบางคนต้องหมดเนื้อหมดตัว ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อก่อสร้าง
ปัญหาภูทับเบิกนี้มีการดำเนินคดีจนถึงขั้นพิพากษาศาลฎีกาไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 แต่ไม่มีการรื้อถอน จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งรื้อถอนบ้านพักรีสอร์ทที่รุกที่ป่าสงวนและที่ของทางราชการ ในพื้นที่ภูทับเบิก จ.เพชรบูรณ์รวม 19 แห่ง
โดยเริ่มจากการปิดใบแจ้งให้รับทราบ ภายใน 30 วัน เมื่อครบแล้วทางการยังต่อเวลาให้อีก 7 วันจนกระทั่งวันสุดท้ายและเจ้าหน้าที่เริ่มเข้ารื้อถอนวันที่ 19 สิงหาคม เป็นวันแรก โดยค่ารื้อถอนเจ้าของรีสอร์ทจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นเมื่อรื้อถอนในวันที่ 20 สิงหาคมจึงเกิดการรวมตัวกันของชาวม้งประท้วง จนกระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ 4 แกนนำชาวม้งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม