พบ “ไม้เช็ดก้น” โบราณ แพร่เชื้อมานานตั้งแต่ 2 พันปีก่อนบน “เส้นทางสายไหม”
พบ “ไม้เช็ดก้น” โบราณ แพร่เชื้อมานานตั้งแต่ 2 พันปีก่อนบน “เส้นทางสายไหม”
นักวิทยาศาสตร์พบ “เส้นทางสายไหม” นอกจากจะเป็นเส้นทางการค้าขายสินค้าแล้ว ยังเป็นเส้นทางแพร่เชื้อโรคระหว่างจากตะวันออกไปยังตะวันตก จากหลักฐานเป็น “ไม้เช็ดก้น” โบราณ ที่พบในส้วมอายุกว่า 2,000 ปี
สถานที่ขุดพบไม้เช็ดก้นเหล่านี้อยู่ที่เฉียนเฉียนจื้อ (Xuanquanzhi) จุดพักทางขนาดใหญ่บนเส้นทางสายไหม เมืองตุนหวง มณฑลกานซู่ ประเทศจีน เป็นโบราณสถานที่คาดว่าอยู่ในยุคของราชวงศ์ฮั่น ถูกใช้ในช่วง 111 ปีก่อนคริสตกาลถึง ค.ศ. 109 (ราว พ.ศ. 432-652)
เฉียนเฉียนจื้อถูกขุดสำรวจมาตั้งแต่ 20 ปีก่อน เคยพบเอกสารโบราณหลายชิ้น แต่ ฮุยหยวน เยห์ (Hui-Yuan Yeh) นักวิจัยจากเคมบริดจ์ในสหราชอาณาจักร เลือกที่จะให้ความสนใจกับ “ไม้เช็ดก้น” ที่ถูกทิ้งในส้วมโบราณแห่งนี้
ฮุยหยวนได้รับอนุญาตให้นำตัวอย่างบางส่วนไปตรวจสอบ เขาจึงนำไปให้เพียส์ มิตเชล (Piers Mitchell) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคยุคโบราณของเคมบริดจ์ตรวจสอบ โดยทั้งสองเพิ่งเผยแพร่งานวิจัยของพวกเขาในรายงานวารสารโบราณคดีศาสตร์ (Journal of Archaeology Science: Reports)
งานวิจัยของทั้งคู่ระบุว่า ในไม้เช็ดก้นเหล่านี้พบไข่ของปรสิตทั้งพยาธิตัวกลม พยาธิตัวแบน พยาธิแส้ม้า และพยาธิใบไม้ในตับสายพันธุ์จีน ซึ่งพื้นที่แพร่กระจายของปรสิตเหล่านี้ที่ใกล้กับเฉียนเฉียนจื้อมากที่สุดมีระยะทางห่างออกไปถึง 1,500 กิโลเมตร
“ตอนแรกที่เราเจอไข่พยาธิใบไม้ในตับสายพันธุ์จีน เรารู้เลยว่าได้เจอกับการค้นพบครั้งสำคัญเข้าแล้ว” ฮุยหยวนกล่าว “งานวิจัยของเราถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้หลักฐานทางโบราณคดีจากโบราณสถานบนเส้นทางสายไหมเพื่อแสดงให้เห็นว่า นักเดินทางได้พาโรคระบาดไปกับพวกเขาบนเส้นทางที่มีระยะกว้างไกลมาก”
มิตเชลกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการสันนิษฐานว่า พ่อค้า ทหารและเจ้าหน้าที่ทูต ซึ่งเดินทางบนเส้นทางสายไหมเข้าไปยังตะวันออกกลาง และเมดิเตอร์เรเนียนได้พาโรคระบาดติดตัวไปด้วย แต่ก็ยังไม่เคยมีหลักฐานยืนยันหนักแน่น การแพร่กระจายของโรคจากตะวันออกไปยังตะวันตกทั้งกาฬโรค และโรคเรื้อนจึง อาจมาจากอินเดีย มองโกเลีย หรือรัสเซียก็เป็นได้
“นี่เป็นครั้งแรกที่เรารู้ว่าพยาธิใบไม้ในตับมาพร้อมกับเส้นทางสายไหม ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า โรคอื่นๆก็อาจแพร่กระจายผ่านเส้นทางเดียวกัน มันเยี่ยมเสมอที่[ข้ออ้าง]มีข้อพิสูจน์” มิตเชลกล่าว (The Guardian)
ภาพประกอบ:
1. ไม้เช็ดก้นโบราณที่นักวิจัยจากเคมบริดจ์พบว่ามีไข่ปรสิตสี่ชนิด (AFP PHOTO / UNIVERSITY OF CAMBRIDGE)
2. ภาพเขียนผนังถ้ำบอกเล่าการเดินทางของจาง เชียน (Zhang Qian) ทูตจีนในจักรพรรดิฮั่นอู่ ซึ่งออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับดินแดนนอกจักรวรรดิในช่วงศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล (ภาพจากถ้ำหมายเลข 323 ในกลุ่มถ้ำแห่งโมเกา, Public Domain)
https://www.facebook.com/SilpaWattanatham/photos/pcb.925975500865176/925974724198587/?type=3&theater