ฝากเงินธนาคาร เงินในบัญชีหาย!!ธนาคารเป็นผู้เสียหายโดยตรงและธนาคารต้องรับผิดชอบคืนเงินเราตามสัญญาฝากเงิน
#ฝากเงินธนาคาร เงินในบัญชีหาย!!ธนาคารเป็นผู้เสียหายโดยตรงและธนาคารต้องรับผิดชอบคืนเงินเราตามสัญญาฝากเงิน#
"เงิน"ซื้อทุกอย่างในโลกนี้ไม่ได้"แฟนเพจทนายเพื่อนคุณ เชื่อว่าแฟนเพจหลายๆท่านคิดแบบนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเงินก็มีส่วนจำเป็นในการดำรงชีพในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย และทุกคนก็มีสิทธิที่จะปกป้องทรัพย์สินหรือเงินของตัวเองเนื่องจากกว่าจะหามาได้นั้น มันเหน็ดเหนื่อยเสียเหลือเกิน ดังนั้นการฝากเงินไว้กับธนาคารจึงเป็นหนทางที่เราเชื่อมั่นว่าเงินของเราจะปลอดภัยมากที่สุด แต่ถ้าเงินในบัญชีของเราหายไป ใครจะรับผิดชอบหรือใครเป็นผู้เสียหาย!! ความชัดเจนในเรื่องนี้ แฟนเพจทนายเพื่อนคุณจะไขข้อกระจ่างในเรื่องนี้ทุกแง่มุมครับ
การฝากเงินกับธนาคารถือได้ว่าเป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้
มาตรา 657 อันว่าฝากทรัพย์นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ฝาก ส่งมอบ ทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับฝาก และผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้น ไว้ในอารักขาแห่งตน แล้วจะคืนให้
มาตรา 659 วรรคท้าย
ถ้าและผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการ ค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้น
มาตรา 672 ถ้าฝากเงิน ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับฝากไม่พึงต้องส่งคืน เป็นเงินทองตราอันเดียวกันกับที่ฝาก แต่จะต้องคืนเงินให้ครบจำนวน
อนึ่งผู้รับฝากจะเอาเงินซึ่งฝากนั้นออกใช้ก็ได้ แต่หากจำต้องคืนเงินให้ครบจำนวน เท่านั้น แม้ว่าเงินซึ่งฝากนั้นจะได้สูญหายไปด้วยเหตุสุดวิสัยก็ตาม ผู้รับฝากก็จำต้องคืนเงินเป็นจำนวน ดั่งว่านั้น
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะเห็นได้ว่าการฝากเงินกับธนาคารเป็นการฝากทรัพย์แต่เรื่องเงินจะแตกต่างจากการฝากทรัพย์ทั่วไปคือเมื่อเราเอาเงินไปฝากธนาคารแล้ว เวลาเราเรียกคืนธนาคารไม่จำต้องคืนธนบัตรหรือแบงค์ใบเดิม โดยกฎหมายกำหนดให้คืนให้ครบตามจำนวนเท่านั้น ตามกฎหมาย ปพพ.มาตรา672
เมื่อเงินในบัญชีเราหายด้วยสาเหตุต่างๆเช่น เกิดการปลอมลายมือชื่อของเราไปถอนเงิน หรือแอบถอนเงินไปจากบัญชีของเราโดยที่เราซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีไม่รู้เรื่องหรือโดยพนักงานของธนาคารแอบถอนเงินเราไป ธนาคารจะต้องรับผิดต่อเจ้าของบัญชีตามสัญญาฝากทรัพย์ และผู้เสียหายก็คือธนาคารที่ถูกทำละเมิดจากบุคคลเหล่านั้นทั้งทางแพ่งและอาญาไม่ว่าจะเป็นความผิดอาญาฐานยักยอกหรือความผิดฐานอื่นก็ตามแต่ ถือได้ว่าธนาคารคือผู้เสียหาย
ดังนั้นเจ้าของบัญชีจะเอาผิดยักยอกกับธนาคารไม่ได้เพราะธนาคารเองไม่มีเจตนารวมทั้งธนาคารย่อมรับผิดต่อเจ้าของบัญชีตามสัญญาฝากเงินอยู่แล้ว
ฎีกา2542/2549
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์ฝากเงินไว้แก่จำเลย ต่อมามีบุคคลอื่นปลอมลายมือชื่อของโจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ จำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่อยอมให้ถอนเงินไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินจำนวนที่ถูกถอนไปแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเงินที่ฝากไว้แก่จำเลยคืนตามสัญญาฝากทรัพย์ แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยก็เพื่อแสดงว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะไม่กระทำตามหน้าที่ที่ ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคสาม บัญญัติไว้เท่านั้น หาใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ดังที่จำเลยฎีกาไม่ สิทธิเรียกร้องให้คืนเงินตามสัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ฎีกา6708/2537
ป.เป็นเพียงลูกจ้างของโจทก์ มีหน้าที่ในการขับรถ ไม่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อในเช็คของโจทก์แทนโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมในการปลอมลายมือชื่อในเช็คพิพาท นอกจากนี้ ป.เบิกเงินตามเช็คพิพาทไปตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2529ดังนั้นแม้ ว.และ ส.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์จะได้ทราบว่าเช็คพิพาทหายไปจากสมุดเช็คในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2529 ก็ตาม ว.และ ส.ก็แจ้งให้ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาเมืองพานทราบเพื่อไม่ให้จ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวไม่ทันอยู่ดี การที่ว.และ ส.มิได้แจ้งให้ธนาคารจำเลยที่ 1 ทราบว่าเช็คพิพาทถูกลักจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ก่อความเสียหายขึ้นโดยตรง โจทก์จึงไม่เป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานของธนาคารจำเลยที่ 1 จ่ายเงินของจำเลยที่ 1 ไปโดยประมาทเลินเล่อไม่ตรวจดูลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของผู้แทนโจทก์ที่ให้ไว้แก่ธนาคารจำเลยที่ 1ให้ดีเสียก่อนนั้น เป็นเพียงเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายไม่อาจหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของธนาคารโจทก์ได้เท่านั้น จึงเป็นกรณีจำเลยที่ 2และที่ 3 ทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ไม่เพราะโจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฝากเงินตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันได้ตามกฎหมายต่อเมื่อธนาคารจำเลยที่ 1
หักเงินจากบัญชีของโจทก์และปฏิเสธที่จะคืนเงินให้โจทก์ตามจำนวนเงินที่เหลืออยู่เดิมจึงได้ก่อข้อโต้แย้งสิทธิตามสัญญาฝากเงินขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ หาใช่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำละเมิดต่อโจทก์ขึ้นตั้งแต่ที่จ่ายเงินไปโดยประมาทเลินเล่อนั้นไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้รับผิดฐานละเมิด ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง
ฎีกา 520/2554
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฝากทรัพย์ โดยจำเลยเป็นนิติบุคคลประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์มีวัตถุประสงค์ว่ารับฝากเงิน จำเลยจึงเป็นผู้รับฝากผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด จึงต้องใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างนั้นตามบทบัญญัติมาตรา 659 วรรคสาม แห่ง ป.พ.พ. อันเป็นการกำหนดมาตรฐานในการระมัดระวังในการปฏิบัติตามสัญญาในขั้นสูงสุดเยี่ยงผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติในกิจการที่กระทำ
สรุป กฎหมายได้มีมุมมองในเรื่องเงินแบบที่ดังกล่าวมาข้างต้นเพราะต้องการปกป้องประชาชนรวมทั้งให้สถาบันการเงินบริหารจัดการได้ตามวิชาชีพของธุรกิจ โดยให้มองง่ายๆว่าเมื่อเราฝากเงินกับธนาคาร ธนาคารจำต้องคืนเงินเราเป็นจะนวนเท่าเดิมไม่จำเป็นต้องคืนแบงค์เดิมแต่ถ้ากฎหมายมองว่าถ้าเงินในบัญชีเราหายแล้วธนาคารยักยอกเราไปมันไม่ใช่ครับ
ไม่อย่างงั้นการที่ธนาคารเอาเงินที่เราฝากไปปล่อยกู้ให้ลูกค้านั้นคงโดนเจ้าของบัญชีฟ้องยักยอกกันทั้งบ้านทั้งเมือง ดังนั้น แฟนเพจทนายเพื่อนคุณ ขอชี้ชัด!!ว่าเมื่อเงินในบัญชีเราหาย ธนาคารต้องรับผิดชอบชดใช้เราตามสัญญาการฝากเงิน และผู้เสียหายก็คือธนาคารที่ต้องไปดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้นที่ได้กระทำผิดกฎหมายต่อธนาคารครับ
https://www.facebook.com/Bestthailawyer/photos/a.1641506709433008.1073741826.1641474646102881/1705559263027752/?type=3&theater
ขอขอบคุณภาพจาก www.thairath.co.th