คณะนักวิจัยญี่ปุ่นสร้างตับจิ๋วที่ทำหน้าที่เหมือนตับมนุษย์ได้สำเร็จ
คณะนักวิจัยในญี่ปุ่นแถลงว่า ประสบความคืบหน้าไปอีกขั้นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซลล์ iPS หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่กระตุ้นจากเซลล์ที่โตแล้วของร่างกายมนุษย์ด้วยวิธีการทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ เพื่อช่วยผู้ป่วยโรคตับ และว่าทางคณะนักวิจัยประสบความสำเร็จในการสร้างตับจิ๋วซึ่งทำหน้าที่ได้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับตับมนุษย์
คณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเมืองโยโกฮามาชุดนี้นำโดยศาสตราจารย์ฮิเดะกิ ทะนิงุชิ และได้สร้าง “ตับจิ๋ว” ที่มีขนาดหลายมิลลิเมตร โดยใช้เซล iPS ทั้งนี้ เซลล์ต้นกำเนิดที่กระตุ้นจากเซลล์ที่โตแล้วของร่างกายมนุษย์สามารถพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อในร่างกายมนุษย์หลายชนิด
คณะนักวิจัยชุดนี้กล่าวว่าประสบความสำเร็จในการพัฒนาการทำงานของตับจิ๋วเหล่านี้ด้วยการใช้เซลล์หลอดเลือดซึ่งสร้างขึ้นจากเซลล์ iPS เช่นกัน และว่าตับจิ๋วเหล่านี้สามารถแปลงแอมโมเนียให้เป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์อันตรายได้ในระดับเดียวกับเซลล์ในตับมนุษย์ นอกจากนี้ ตับจิ๋วยังมีขีดความสามารถในการสร้างอัลบูมินซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งในเลือดเพิ่มขึ้นเท่าตัว
คณะนักวิจัยชุดนี้หวังว่าจะเริ่มการศึกษาทางคลินิกได้ในปีงบประมาณ 2562 และมีแผนที่จะปลูกถ่ายตับจิ๋วจำนวนมากเข้าไปยังร่างของผู้ป่วยไตวายขั้นรุนแรง
ศาสตราจารย์ทะนิงุชิกล่าวว่าคณะนักวิจัยของเขาจะศึกษาเพิ่มเติมต่อไปเกี่ยวกับวิธีควบคุมความเสี่ยงที่เซลล์ iPS จะสร้างเนื้องอก
NHK WORLD