"ทรู" ทำบุญมาดีจริงๆ!
เป็นไปดั่งภาษิตโบราณท่านว่าไว้จริงๆ... คนเราแข่งอะไรก็แข่งได้ แต่จะให้แข่งบุญแข่งวาสนาหน่ะ ฝันไปชาติหน้าตอนบ่ายๆ
ก็จะอะไรเสียอีกถ้าไม่ใช่ “ทรูมฟ เอช” ในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลังผ่าทางตันปัญหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนการลงทุน 4 จีบนคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ์ (MHz) กว่า 7.3 หมื่นล้าน ที่ทำเอาผู้ถือหุ้นน้ำตาตกในไปหลายกระบุงโกย จนสามารถจ่ายเงินค่าธรรมเนียมประมูลล็อตแรก 8,040 ล้านบาทได้ ก็ได้รับความเอื้อเฟื้อจากคณะกรรมการกิกรโทรคมนาคม (กทค.) ในทันที
โดยบอร์ด กทค.เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ได้มีมติให้ยุติมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามในทันที พร้อมสั่งให้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “เอไอเอส” ผู้ให้บริการรายเดิมจะต้องไปเช่าช่วงคลื่นความถี่จาก “ทรมูฟ เอช” เพื่อให้บริการในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเก่าที่คั่งค้างอยู่ในระบบกว่า 8.8 ล้านราย เร่งดำเนินการโอนย้ายเลขหมายไปยังเครือข่ายผู้ใช้บริการอื่นๆ โดยต้องเสียค่าเช่าคลื่นเดือนละ 450 ล้าน
แม้ก่อนหน้าเอไอเอสจะร้องขอให้ กทค.และ กสทช.ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวออกไปอีกระยะ โดยเช่าคลื่นความถี่ 900 MHz ชุดที่ 1 ที่อยู่ในมือ กสทช.ที่เป็นช่วงคลื่นที่ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทสื่อสารรายใด แต่ก็ถูก กทค.บอกปัดอย่างไร้เยื่อใย ไล่ให้ต้องไปเช่าใช้คลื่นจากทรูมูฟแทนเท่านั้น
ด้วยข้ออ้างที่ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคม “อึ้งกิมกี่” กลัวถูกบริษัทฟ้องร้อง เพราะเป็นไปตามเงื่อนไขประมูล ที่เมื่อบริษัทสื่อสารที่ชนะการประมูลรายหนึ่งรายใดเข้ามาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมประมูล และวางแบงก์การันตีจากสถาบันการเงินตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว กสทช.ต้องยุติมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวฯในทันที
สรุปให้ง่ายก็คือ กสทช.ต้อง “ลอยแพ” ปล่อยให้ผู้ใช้บริการมือถือในระบบ 2 จีคลื่น 900 เดิมที่นัยว่ายังคงเหลือคั่งค้างอยู่ในระบบกว่า 8.8 ล้านเลขหมายดับในทันที เพื่อให้ลูกค้าเหล่านี้กลายเป็น “ผึ้งแตกรัง” ที่จะต้องโบยบินไปหาที่ซบอกหรือวิ่งโร่ไปหาผู้ใช้บริการเครือข่ายอื่น ๆ ต่อไป
มิหนำใจบอร์ค กทค.ยังเอื้ออารีย์ให้บริษัทสื่อสารรายนี้สำลักความสุขชนิด “จุกอก” กันไปอีกด้วยการสั่งให้ สำนักงาน กสทช.มีคำสั่งทางปกครองไปยังค่าย “เอไอเอส” และ “ดีแทค” ให้เร่งดำเนินการโอนย้ายเลขหมายของลูกค้ากว่า 6 แสนราย ที่แสดงเจตจำนงค์จะขอโอนย้ายไปยังบริษัท เรียลมูฟ และ ทรู มูฟ เอช โดยด่วนภายใน 3 วัน
แม้ก่อนหน้ากรณีการโอนย้ายเลขหมายโดยอัตโนมัติของ “ทรู มูฟ เอช” ที่ดำเนินการผ่านเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ดังกล่าวจะทำเอา 2 ค่ายยักษ์ “เอไอเอส-ดีแทค” ออกมาร้องแรกแหกกระเชอว่าไม่เป็นไปตามกระบวนการให้บริการคงสิทธิ์เลขหมาย (Mobile Number Portability : MNP) ตามประกาศ กสทช. เพราะไม่มีการเรียกเก็บเอกสารแสดงตน แต่ก็ถูกบอร์ด กทค.ดักคอเอาชนิด “หงายเงิบ” กทค.เห็นว่าเหตุผลในการปฏิเสธการโอนย้ายเลขหมายของเอไอเอสและดีแทค ไม่เข้าเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การโอนย้ายเลขหมาย กระบวนการปฏิเสธการโอนย้ายไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้บริการรายเดิม เพราะหน้าที่ในการตรวจสอบเอกสารเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการรายใหม่ที่ต้องรับลูกค้าเข้ามา”
ทำเอา 2 ค่ายยักษ์ที่ร้องแรกแหกกระเชอให้ กสทช.ตรวจสอบกระบวนการโอนย้ายเลขหมายดังกล่าวที่ว่าไม่เป็นไปตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยการให้บริการคงสิทธิ์เลขหมาย (Mobile Number Portability : MNP) นั้นหงายเงิบแทบล้มทั้งยืน เพราะแม้ กสทช.จะประจักษ์และยอมว่าไม่เป็นไปตามประกาศ กสทช.จริง แต่เมื่อบริษัทอ้างว่า เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฉบับใหม่ กทค.และ กสทช.ก็ได้แต่เออออห่อหมก ก่อนมีมติว่าอนุโลมให้บริษัททำได้ (แต่ผู้เดียว) เท่านั้น
เล่นเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคม “อึ้งกิมกี่” มึนไปหลายตลบ หน่วยงาน/องค์กรกำกับกิจการโทรคมนาคมไทยเราเดินมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
ทำให้นึกย้อนไปถึงช่วงที่ กสทช.ออกประกาศบังคับให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมต้องลงทะเบียน “ซิมการ์ด” มือถือทั่วประเทศก่อนหน้าเหลือกำลังเพราะ กสทช.แสดงบทแข็งกร้าวจะต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด แต่ละรายต้องจัดทำโปรแกรมลงทะเบียนกันให้จ้าละหวั่น รายไหนอิดออดไม่ดำเนินการตามคำสั่งและประกาศ กสทช.เป็นต้องถูกปรับถูกขู่ถึงขั้นจะริบใบอนุญาต
แต่พอมาเจอกรณี “ทรูมูฟ” ดอดให้บริการคงสิทธิ์เลขหมายที่ไม่เป็นไปตามประกาศ กสทช.และเป็นการให้บริการผ่านเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ “7-11” ไม่ต้องผ่านศูนย์บริการมือถือหรือศูนย์บริการคงสิทธิเลขหมายไม่เป็นไปตามประกาศ กสทช.บอร์ด กทค.ก็กลับตาลปัตรรองรับให้ดำเนินการได้ (แต่ห้ามรายอื่นทำตาม) เอากะพ่อซิ!
เจอไม้นี้เข้าก็ทำเอาแวดวงโทรคมนาคมต่างพันตั้งข้อกังขา คนเราแข่งอะไรก็แข่งได้แต่จะให้แข่งบุญแข่งวาสนานั้นแข่งกันไม่ได้จริงๆ พร้อมตั้งคำถามให้ทุกฝ่ายได้ช่วยกันขบคิด
“ตกลงใครกันแน่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมไทย? กสทช.หรือ ทรูมูฟเอช ? !!!