พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ชงเรื่อง ว่าที่สมเด็จพระสังฆราช ควรเป็นฝ่ายมหานิกาย
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ โพสต์เรื่องนี้
ว่าที่สมเด็จพระสังฆราช
ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชที่ว่างลงอยู่นั้น เห็นเป็นความชอบธรรมที่รัฐบาลจะได้เสนอนามของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะทางฝ่ายมหานิกาย ผู้ซึ่งมีความอาวุโส และเพียบพร้อมไปด้วยคุณวุฒิและวัยวุฒิยิ่งกว่าสมเด็จพระราชาคณะทั้งหมดทั้งปวงในตอนนี้ เพื่อรับการโปรดเกล้าฯ ขึ้นรั้งตำแหน่ง
ทั้งนี้ด้วยเจ้าประคุณสมเด็จท่าน เป็นสมเด็จพระราชาคณะมาแต่ปี ๒๕๓๘ จนถึงวันนี้ ล่วงแล้วได้ ๒๐ ปี อันคุณสมบัติของผู้ที่ควรได้รับการโปรดเกล้า ฯ เป็นสกลมหาสังฆปรินายกนั้น ๒ ใน ๔ ข้อ กำหนดว่า ต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ที่มีพรรษาสูงสุด หรืออาวุโสสูงสุด ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่บัญญัติให้เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด อันกฎบัญญัติข้อนี้ที่มีขึ้น ดูจะประสงค์ให้เป็นการเกื้อกูลต่อพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ โดยที่พระสงฆ์ต้องเคารพนับถือกันโดยความอาวุโสแห่งพรรษาการ
อีกประการหนึ่ง ในกฎข้อที่ ๔ ของผู้ควรได้รับการโปรดเกล้า ฯ ขึ้นเป็นสกลมหาสังฆปรินายก คือ ต้องได้บำเพ็ญศาสนกิจเป็นประโยชน์แก่พระศาสนา และราชอาณาจักรเป็นอย่างมาก ทั้งยังสามารถปฏิบัติภารกิจต่อไปได้
ความข้อนี้ หากกล่าวถึง ในส่วนของปรหิตประโยชน์แล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ถือได้ว่าเป็นพระมหาเถระรูปหนึ่ง ที่สนองงานในส่วนของศาสนจักร ต่างพระเนตรพระกรรณ เป็นคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง มาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ที่เจ้าประคุณสมเด็จท่าน ดำรงตำแหน่งแม่กองบาลีสนามหลวง มาเมื่อครั้งสมัยยังดำรงสมณศักดิ์ ที่พระธรรมปัญญาบดี อันงานส่วนการศึกษาด้านพระบาลีนี้ ถือได้ว่าเป็นเสาหลักของคณะสงฆ์เลยทีเดียว หากขาดพระมหาเถระผู้เสียสละในการรับผิดชอบดูแลอย่างเข้มงวดและจริงจังเสียแล้ว การพระศาสนาย่อมจะรุ่งเรืองไม่ได้เลย
ถึงในส่วนของวัตรปฏิบัติ อันเป็นคุณสมบัติอีกข้อหนึ่งที่สำคัญ เจ้าประคุณสมเด็จท่านก็มิได้มีความบกพร่องด่างพร้อย ให้ควรแก่การครหาของบัณฑิตชน ดังที่ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระมหาเถระในฝ่ายวิปัสสนาหลายรูป แม้แต่สังฆนายกในต่างประเทศหลายหลายประเทศ ก็ให้การเคารพนับถือเจ้าประคุณสมเด็จท่านเช่นกัน
กิตติคุณของเจ้าประคุณสมเด็จ มิได้เป็นที่ยอมรับเฉพาะแค่พระสงฆ์หรือพุทธบริษัทในพุทธศาสนาเท่านั้น ถึงในหมู่ชนต่างศาสนา อย่างบาทหลวงในศาสนาคริสต์ หรือ ศาสนิกของศาสนาซิก เป็นต้น ก็ดูจะให้การนับถือต่อเจ้าประคุณสมเด็จท่านอยู่ไม่น้อย ดังที่เห็นได้จากการที่ท่านเหล่านี้ เดินทางไปพบเพื่อสนทนาธรรมกับเจ้าประคุณสมเด็จท่านอยู่บ่อยๆ
นับตั้งแต่สิ้นสมเด็จพระอริยวงศคตญาณ พระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ก็มิได้มาจากพระมหาเถระฝ่ายมหานิกายเลย บัดนี้นับเป็นความชอบธรรม เป็นสิทธิตามบทบัญญัติแห่งคณะสงฆ์ได้ตราเอาไว้ ที่รัฐบาลจะทูลเกล้า ฯ เสนอนาม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระมหาเถระผู้ใหญ่แห่งมหานิกาย ขึ้นรั้งตำแหน่ง สกลมหาสังฆปรินายก ปกครองคณะสงฆ์สืบไป
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ