พระภิกษุให้พรตอนเราใส่บาตรผิดวินัย หรือไม่?
พระภิกษุให้พร อายุ วรรณะ สุขะ......ตอนเราใส่บาตรเสร็จ หรือให้เรากรวดน้ำ แล้วกล่าวยะถา แต่ท่านยืนอยู่เรานั่งยองๆ พระภิกษุผิดวินัยหรืออาบัติทันที (อาบัติทุกกฏ เป็นอาบัติเล็กๆ น้อยๆ ก็คือทำผิดกฏเล็กๆ น้อยๆ แต่ดูแล้วไม่งาม) ตามพระวินัยมีว่า ผู้แสดงธรรมยืน ผู้ฟังนั่งยองๆ ชื่อว่าไม่เคารพธรรม พระภิกษุผู้แสดง เป็นอาบัติทันที
พระบิณฑบาตยืนให้พรต้องอาบัติทุกกฏ
มีพระวินัยบัญญัติไว้ พระยืนแสดงธรรมต่อผู้ที่นั่งที่ไม่เจ็บป่วยต้องอาบัติทุกกฏ การให้พรอาจถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม มติของพระผู้ใหญ่หลายท่านจึงเห็นว่า การที่ออกบิณฑบาตแล้วยืนให้พร ขณะที่โยมนั่งยองๆ รับพร ต้องอาบัติทุกกฏแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีพระอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงจริยาไม่งามในการให้พร โดยเฉพาะพระที่ไปยืนรับบาตรตามตลาด แข่งกันให้พรเสียงดังระงม เหมือนต้องการจะเรียกญาติโยมที่เดินไป ใครอยากได้บุญจากการให้พรก็ให้ มาใส่บาตรที่ตน
ส่วนญาติโยมเองก็พึงใจที่จะให้พระให้พรหลังใส่บาตร เพราะคิดว่าบุญจะได้หรือไม่ได้อยู่ที่พรจากพระ ทั้งที่อานิสงค์จากการทำบุญเกิดขึ้นตั้งแต่มีเจตนาจะทำ เมื่อกระทำ และหลังการกระทำเมื่อระลึกถึงบุญนั้น โดยไม่จำเป็นต้องได้รับพรจากพระเลย
จะว่าไปแล้ว ประเพณีการให้พรเวลาบิณฑบาตก็เพิ่งมีขึ้นน่าจะไม่เกิน 20 ปีนี้เอง ก่อนหน้านั้น ก็ไม่เห็นว่าเวลาพระออกบิณฑบาตต้องให้พร เพราะพระจะต้องอนุโมทนาในหอฉันเสมออยู่แล้ว และเวลาพระออกบิณฑบาตให้คำสอนก็ให้ไปพร้อมวิปัสนา ถ้าทุกครั้งที่ใส่บาตรต้องมัวแต่คอยให้พร ก็ไม่รู้จะหาวิปัสนาได้อย่างไร
ไม่รู้ว่าประเพณีเช่นนี้กำเนิดจากไหน และแผ่ขยายไปทุกภูมิภาค ยุคนี้กลายเป็นว่า พระไม่ให้พรเป็นการผิดประเพณีไป ญาติโยมที่ใส่บาตรก็ไม่พอพอใจ ถึงขั้นไม่ยอมใส่บาตรพระองค์นั้นอีก เพราะคิดว่าถ้าพระไม่ให้พรจะไม่ได้บุญ แทนที่จิตจะเป็นกุศลกลับเป็นอกุศล โทสะ โมหะครอบงำ มีบางรายถึงกับไปร้องเรียน ถึงเจ้าคณะเขต พระที่ไม่ได้ให้พรก็ถูกเรียกไปตักเตือน
เมื่อให้พร พระสุ่มเสี่ยงที่จะผิดพระวินัย แต่ครั้นจะไม่ให้พรทุกวันนี้พระก็อาจโดนตำหนิจากญาติโยม แล้วจะทำอย่างไร ก็คงต้องเป็นเรื่องที่พุทธบริษัททั้งหลายพึงทำความเข้าใจในคำสอนให้ชัดเจน
คำให้พรว่า อายุ วัณโณ สุขัง พลัง ซึ่งเริ่มที่อายุ บอกว่าให้มีทุกอย่างมาก ๆ มีสุขมาก ๆ มีกำลังมาก ๆ มีวรรณะก็มาก แล้วก็ต้องมีอายุมากด้วย
อายุมากๆคือพลังหล่อเลี้ยงชีวิต หรือปัจจัยส่งเสริมที่จะหล่อเลี้ยงให้ชีวิตมีความเข้มแข็งและดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง