ทึ่ง!!! ดร.พระมหามงคลกานต์ คว้าปริญญา16ใบ ชี้ "ความจน" ทำให้มีวันนี้
(24 ต.ค. 58) กราบนมัสการพระอาจารย์ ดร.พระมหามงคลกานต์ครับ ขอกราบถวายคำอวยพร เนื่องในวันคล้ายวันเกิดที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ (12 ต.ค. 58) ขอให้พระอาจารย์จงมีสุขภาพดี มีพลานามัยแข็งแรง เจริญในธรรม อิ่มเอิบความสุขใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ยิ่งยืนนานตลอดไปขอรับ และผม "Fuckyou" ขออนุญาตนำเรื่องราวของพระอาจารย์ "ดร.พระมหามงคลกานต์ " ขอนำรูปภาพ,บทความกรณีปริญญาบัตรและประวัติมาเผยแผเป็นแบบอย่างสืบไป
ถ้าคุณมีความหวัง!!! แค่ปริญญา 16ใบ ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคน ดังเช่นพระมหามงคลกานต์ เมื่อมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ได้เผยแพร่ภาพพระสงฆ์รูปหนึ่ง พร้อมข้อความว่า “พระจบปริญญา 16 ใบ”
ดร.พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมฺโม ป.ธ.9 อายุ 36 ปี (12 ต.ค.2523) อาจารย์ มจร. จบ ปริญญาตรี 13 ใบ ประกอบด้วย พธ.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), มสธ. :นิติศาสตร์-การบริหารการศึกษา-การสอนมัธยมศึกษา(เกียรตินิยม)-รัฐศาสตร์-การศึกษานอกระบบ-เทคโนโลยีการอาหาร, ม.รามคำแหง :การบริหารรัฐกิจ-สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา-ประวัติศาสตร์-สื่อสารมวลชน-ภาษาไทย,ปริญญาโท 2 ใบ พธ.ม.(วิทยานิพนธ์ดี), ม.นเรศวร :ศษ.ม. และปริญญาเอก 1 ใบ จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย :ศน.ด.(วิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม)
โดยเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ 1 ใบ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 6 ใบ มหาวิทยาลัยรามคำแหง 5 ใบ จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยนเรศวร 1 ใบ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ 1 ใบ
จบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ 1 ใบ และระดับปริญญาตรี ด้านการแพทย์แผนไทย ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อีกด้วย
ดร.พระมหามงคลกานต์ เป็นคนจังหวัดสุรินทร์ ในวัยเด็กพอเรียนจบชั้นป.6 ก็ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อ จึงตัดสินใจขอทางครอบครัวมาบวชที่ "วัดอังกัญโคกบรรเลง" จ.สุรินทร์ เพื่อหวังที่จะได้รับโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นและได้ขอกับเจ้าอาวาสเพื่อไปเรียนต่อโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ที่วัดกลางสุรินทร์ เมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ก็ได้สอบเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วิทยาเขตเชียงใหม่ จนจบระดับปริญญาตรี สาขาวิชาปรัชญาและในระหว่างที่เรียนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯนั้น ได้ลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชด้วย เนื่องจากทั้งสองมหาวิทยาลัยอนุญาตให้สามารถเทียบโอนรายวิชาพื้นฐานได้ ตนจึงเทียบโอนรายวิชาพื้นฐานที่เรียนผ่านมาแล้วจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ทำให้ใช้เวลาเรียนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในสาขาวิชาที่ลงเรียนประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชใช้เวลาเรียนสาขาวิชาละประมาณ 2 ปี จึงสำเร็จการศึกษา
เสียงสรรเสริญ ชื่นชม ยินดี ที่สังคมเชิดชูพระสงฆ์ผู้พากเพียรรูปนื้ อาจเพียงเพราะท่านประสบความสำเร็จด้านการศึกษาอย่างสูงสุด ทว่าตัวตนรวมถึงสิ่งที่อยู่ในความคิดของท่านกลับน่าสนใจยิ่งกว่า
"จะไม่เพียงพอแห่งการเรียน และจะขอรู้ไปจนหมดลม" พระมหามงคลกานต์ พูดชัด
เกิดเป็นคำถามมากมายกับวิถี-แนวทางการดำเนินชีวิตของท่าน ท่านมองเห็นอะไร?ทำไมถึงร่ำเรียนมากขนาดนี้? เรียนไปเพื่ออะไร?
"ความยากจนแร้นแค้น นามสกุลกลาง "พนม" ของอาตมาคือสัญลักษณ์ที่รู้กันทั่วในจ.สุรินทร์ ว่าคือความยากจน เพราะสิ่งนี้แหละที่คิดอยู่เสมอในวัยเด็กว่า ทำอย่างไรถึงจะหนีความจนนี้ให้มันพ้นๆ" พระมหามงคลกานต์ย้อนความหลัง และเล่าต่อไปว่าเมื่อถึงวัย 7 ขวบ พ่อแม่ก็มาล้มหายตายจากไป พี่น้องกระจัดกระจาย ส่วนตัวเองต้องไปอยู่กับญาติในฐานะที่ไม่มีใครต้องการ ความเจ็บช้ำระทมทุกข์ทั้งคำปรามาสนินทาต่างๆ จากญาติของตนเอง
กระนั้น พระมหามงคลกานต์ก็ต้องทนเพราะไม่มีที่ไป อยู่เพียงลำพังในบ้านที่ไร้ความอบอุ่น และเกิดความคิดว่า การเรียนเท่านั้นที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นความลำบาก
จุดเปลี่ยนชีวิตหมดเงินต้องเข้าวัด
"แต่หนทางเรียนจะทำอย่างไรล่ะ เราก็ไม่มีเงิน เมื่อเห็นวัดใกล้บ้านคือ วัดอังกัญโคกบรรเลง มองเด็กวัดปฏิบัติหน้าที่ในวัดมีกินมีที่นอน จึงขอเข้าไปเป็นเด็กวัด และโชคดีที่หลวงพ่อให้ร่ำเรียนจึงได้เข้าสัมผัสกับการศึกษา และยอมรับว่ามีความสุขมาก" รอยยิ้มเปื้อนคำพูดของพระมหามงคลกานต์ บ่งบอกถึงจุดเริ่มต้นสู่การศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล
ทว่า ความสุขจากการเรียนที่พระมหามงคลกานต์ได้สัมผัสเป็นเวลาราว 5 ปี ก็มีอันต้องสะดุด ด้วยว่าขณะนั้นเป็นเด็กวัดเมื่อเรียนจบประถมชั้นปีที่ 6 แล้ว หลวงพ่อเรียกไปหาและให้คำตอบที่ต้องสะเทือนใจของเด็กชายกานต์ในวัย 12 ปี ว่า "ไม่มีเงินให้เรียนแล้วนะ แต่อยู่ที่วัดได้ต่อ มีกินมีที่นอน ช่วยงานวัด" ความพากเพียรที่ต้องการร่ำเรียนด้วยว่าตัวเองก็เรียนเก่งจึงมองหาหนทางต่อไป เพราะไม่มีเวลาจะมานั่งเศร้าใจที่อาจไม่ได้เรียนต่อ จึงตัดสินใจว่า หากบวชเป็นสามเณรแล้วไซร้ โอกาสได้เรียนต้องมีแน่นอน
ดร.พระมหามงคลกานต์ บอกว่าบวชเรียนทั้งการศึกษาวิชาการ และทางพุทธศาสนา ทำให้เราขัดเกลาได้ครบทุกด้าน กอปรกับขณะที่เป็นเด็กวัดก็ได้สวดมนต์ทำวัตร รู้ถึงความหมายของบทสวดและการนำไปปฏิบัติ เมื่อมาเรียนนักธรรมก็สามารถทำได้อย่างดี ขณะที่ด้านวิชาการ เมื่อชั้นม.ปลาย ก็เลือกเรียนสายวิทย์-คณิตเพราะเราชอบและทำได้ดี ขณะที่ทางธรรมก็เป็นสิ่งที่เรารัก กระทั่งใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปี ก็สามารถจบชั้นมัธยมศึกษาได้และเมื่อเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และความคิดก็พลันขึ้นมาในใจว่า
"ไม่คิดจะกลับย้อนไปอยู่บ้านอีกแล้ว"
"ดีใจมาก ตอนนั้นคิดว่าต้องสึกแล้ว ไปซื้อกางเกงมารอเตรียมสึกเพื่อจะเข้าไปเป็นนักศึกษาอย่างเต็มตัว แต่สุดท้ายก็พลิกผัน เพราะหลวงพ่อที่เมตตาเลี้ยงดูมาเกิดป่วยหนัก และลูกศิษย์ลูกหาก็หายไปกันหมดไม่มีใครดูแล เราจึงตัดสินใจกลับวัดไปดูแลหลวงพ่อดีกว่า และไม่สึกแล้ว ส่วนการเรียนเอาไว้ก่อน ให้หลวงพ่อหายดีแล้วกลับมาเรียนก็ได้" ดร.พระมหามงคลกานต์ ย้ำ
เมื่อได้ปรนนิบัติหลวงพ่อ ทำให้ ดร.พระมหามงคลกานต์ได้เห็นถึงความไม่แน่นอนในชีวิต และคิดว่าสุดท้ายแล้วเราก็คงจะเป็นเหมือนหลวงพ่อ แล้วชีวิตมันคืออะไรกันแน่ เรียนไปเพื่อสิ่งใดกันสิ่งที่ตั้งใจไว้คือร่ำเรียนหาความรู้ให้มากที่สุด แต่คำถามที่ยังไร้คำตอบกลับวกวนในความคิดว่าเราต้องการสิ่งใดกันแน่ หากเรียนแล้วจะนำไปใช้อะไร เพราะชีวิตก็ไม่แน่นอน จากเดิมที่คิดเอาไว้ว่าต้องเรียนเพื่อหนีความแร้นแค้นยากจน ปณิธานต้องแปรเปลี่ยน จากนี้จะร่ำเรียนเพื่อช่วยเหลือญาติโยมทุกเพศวัยทุกชนชั้น ทุกองค์ประกอบของสังคม
มุนานะ 20 ปี ศึกษาทุกศาสตร์
ดร.พระมหามงคลกานต์ บอกว่า ใช้เวลาเรียนระดับปริญญา 16 ใบ รวม 20 ปี เริ่มเรียนจาก มจร เชียงใหม่ ซึ่งเป็นปริญญาตรีใบแรก โดยระหว่างที่เรียนนั้นก็จะลงเรียนปริญญาตรีเพิ่มเติมอีก 2 ใบ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และใช้เวลาเรียนจบพร้อมกันทั้ง 3 ใบแรก จากนั้นก็ลงเรียนเพิ่มเติมในสาขาวิชาต่างๆ ที่หลากหลาย ทั้งที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และที่มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงขณะเดียวกันก็ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทควบคู่ไปด้วย
"สมัยที่อาตมาเรียนนั้น เวลาอ่านหนังสือรอบเดียวก็จำได้หมดแล้ว เรียกว่าเราสนุกกับการเรียนมาก และค่อนข้างจะตั้งใจแน่วแน่ ตั้งเป้าไว้เลยว่าต้องอ่านหนังสือให้ได้อย่างน้อยวันละ 12 ชั่วโมง และไม่ขยับไปไหน จะลุกออกจากโต๊ะหนังสือก็เพียงแค่เวลาฉัน และทำกิจส่วนตัวเท่านั้น และจะมานั่งอ่านอยู่ตลอด" ดร.พระมหามงคลกานต์ เล่าถึงการเรียน
อย่างไรก็ตาม ดร.พระมหามงคลกานต์ ยอมรับว่าด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น ความจำอาจจะลดลงไปบ้าง เมื่ออ่านหนังสือก็ต้องอ่านซ้ำอีกครั้งเพื่อทำความเข้าใจ แต่อาศัยความขยันที่มุมานะมาทดแทนกำลังสมองที่เสื่อมไปตามวัย
"อาตมาร่ำเรียนในทุกด้าน ทั้งกฎหมาย สังคม ปรัชญา พุทธศาสนา เศรษฐศาสตร์ การตลาด เป็นต้น เพราะญาติโยมทุกคนที่ต้องการที่พึ่งจากศาสนานั้น ล้วนมาจากหลากหลายระดับ บ้างก็เป็นชาวบ้าน บ้างก็เป็นนักธุรกิจหรือนักกฎหมาย เราเรียนหลายๆ ศาสตร์เพื่อจะได้เข้าใจญาติโยมในทุกบริบทที่เขาเป็น เพื่อสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง และท้ายสุดเราก็จะนำหลักธรรมคำสอนในพุทธศาสนามาประยุกต์ร่วมกัน และนี่คือที่มาของเราที่ต้องเรียนหลากหลาย เรียกว่าเรียนเพื่อญาติโยม เรียนเพื่อสังคม เรียนเพื่อช่วยเหลือผู้คน"
จากเหตุดังกล่าว ไม่ว่าใครก็ตามทั้งอัยการ ผู้พิพากษา ชาวบ้านเกษตรกร นักการตลาด พระมหามงคลกานต์ก็สามารถพูดคุยได้ครบอย่างทุกระดับ เพราะความรู้ที่มีที่ได้สะสมมา ถูกนำมาใช้เพื่อปลอบประโลมความทุกข์ยากของเหล่าผู้ต้องการที่พึ่งจากวัดและจากพระสงฆ์
ความเด่นทางด้านวิชาการของ ดร.พระมหามงคลกานต์ ทำให้กรอบของอดีตที่ผ่านมาด้วยว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่แล้วจะมีของดี ของปลุกเสกเพื่อมอบให้พุทธศาสนิกชนไว้ยึดเหนี่ยวบูชา เป็นแรงต้านแห่งความขุ่นมัวของจิตใจนั้นเปลี่ยนไป หากแต่ถูกขับเคลื่อนปลอบประโลมญาติโยมด้วยความรู้แห่งความจริงด้านวิชาการ ที่แฝงไปด้วยบทธรรมะอันจับต้องได้และถือต่อไปปฏิบัติ และเหนืออื่นใดแล้วพระมหามงคลกานต์ ย้ำว่า ไม่ต้องการหยุดการเรียนเพียงเท่านี้ เพราะตัวเองก็ต้องการเรียนต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี เพราะสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน และเหตุใดเราจึงต้องหยุดการเรียนรู้ ดังนั้นแล้วคำว่าพอเพียงทางด้านการเรียนการศึกษาที่ได้ถามไป จึงไม่มีความหมายสำหรับ ดร.พระมหามงคลกานต์
ดร.พระมหามงคลกานต์ ย้ำว่า เราต้องไม่ทำตัวให้เหมือนน้ำที่เต็มแก้ว เติมไม่ได้แล้ว แต่เราต้องพร้อมที่จะเรียนรู้รับน้ำมาอยู่เสมอ ญาติโยมมีปัญหาเขาก็พึ่งหาพระ ดังนั้นเราจะเอาความรู้ที่ไหนไปบอกญาติโยม หากเราหยุดนิ่งเฉยเสีย การเรียนของเราก็เหมือนการตกปลานอกบ้าน เราอาจจะได้ปลาที่ตัวโตกว่าในหนองเราที่ตกเป็นประจำ ก็เหมือนการเรียน หากเรายังคิดแต่แบบเดิมแล้วมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะสังคมก็เดินหน้ารุดล้ำไปทุกวัน สิ่งอย่างมันแปรเปลี่ยนตามบริบทของมัน หากเราเองไม่พัฒนา แล้วจะเป็นที่พึ่งให้ญาติโยมได้อย่างไร
การเรียนก็คือสื่อธรรมะให้กับสังคม บริการประชาชน เปิดวิทยุทางความคิดความรู้ของเราให้ดังให้ชัดออกไป เพื่อให้เครือข่ายได้รับรู้ เพื่อเชื่อมโยงถึงกันและกันในทุกๆ ด้าน หรือเปิดสายตาแห่งความรู้ให้เหมือนสับปะรดที่มองเห็นอย่างรอบด้าน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องเรียนมากมาย
กระนั้นก็ตาม จำนวนปริญญาที่ได้รับมาสำหรับพระมหามงคลกานต์แล้วนั้น ก็ถือว่าสำเร็จแต่ยังไม่สิ้นสุดเท่านั้น ด้วยว่าเป็นคนที่กระหายใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา การแสวงหาความรู้จึงสำคัญมากกว่าจำนวนของใบปริญญา เพียงแต่ปริญญาสำหรับพระมหามงคลกานต์แล้ว คือใบการันตีที่จะสามารถนำความรู้ไปใช้ต่อได้เท่านั้น
"การศึกษาตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ต้องมองให้ออกว่าตัวเองพัฒนาได้ดีในด้านนั้นๆ แล้วหรือยัง ไปพูดกับใครวงแตกหรือไม่ หากยังไม่ถึงที่สุดก็ต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มันก็เหมือนชีวิตของอาตมาที่ยังรู้ตัวว่าต้องพัฒนาต่อไปอีก สมองเราอาจจะด้อยลงตามสังขาร แต่เราก็เสริมได้ด้วยแรงขยัน เพราะฉะนั้นจึงท้อหรือหยุดคงไม่ได้ด้วยว่ายังมีคนที่ต้องการความรู้จากเรา ทั้งลูกศิษย์ที่ต้องสอนและญาติโยมที่หวังพึ่งพิง"
ปัจจุบันนี้ ดร.พระมหามงคลกานต์ในวัย 36 ปี ดำรงสถานะเป็นเจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่งที่ จ.สุรินทร์ และยังเป็นอาจารย์ประจำสอนภาควิชาพุทธศาสตร์ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อยจ.พระนครศรีอยุธยา และยังคงตระเวนสอนหนังสือไปทั่วประเทศด้วยความรู้ที่สั่งสมมา
เหมือนแสงสว่างจุติกลางความมืดมิดในชั่วยามนี้ที่กระแสแห่งความศรัทธาของวงการผ้าเหลืองถูกถามหาจากสังคมพุทธ และ ดร.พระมหามงคลกานต์ถือเป็นพระอีกรูปหนึ่งที่อยู่ในห้วงแห่งความเป็นจริง ปัจจุบัน และจับต้องได้
"อาตมาหวังไว้ว่า อยากสร้างอุทยานการศึกษามหามงคลกานต์ ตอนนี้ได้ที่ดินมาแล้ว 4 ไร่ ที่ จ.สุรินทร์ อยากทำให้ที่แห่งนี้เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุด ทั้งด้านเกษตรกรรม วิชาการ และธรรมะ หากภาคเหนือมีท่านว.วชิรเมธีได้ เหตุใดแล้วภาคอีสานจะมีท่าน ม.มหามงคลกานต์อย่างอาตมาอีกสักรูปที่ทำงานเพื่อสังคมบ้างไม่ได้" ดร.พระมหามงคลกานต์ ทิ้งท้ายด้วยความหวัง