รัฐบาลซีเรียชุดใหม่หวั่นเกิดสงครามศาสนาในประเทศ
รัฐบาลใหม่ของซีเรีย ได้เปิดปฏิบัติการด้านความมั่นคงในพื้นที่ชายฝั่ง หลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ 14 นาย ในวันก่อนหน้านี้ โดยให้คำมั่นว่า "เราจะไล่ล่า "ซากตกค้าง" ต่อรัฐบาลของ "บาชาร์ อัล อัสซาด" ที่ถูกโค่นอำนาจไป..."
เหตุรุนแรงในเขตตาร์ตุส พื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวอะละวี ผู้คนจำนวนมากสนับสนุน "บาชาร์ อัล อัสซาด" ถือเป็นความท้าทายครั้งร้ายแรงที่สุด ต่อรัฐบาลใหม่ที่นำโดยกลุ่มอิสลามนิกายซุนนี ซึ่งเพิ่งจะขับไล่ "บาชาร์ อัล อัสซาด" ออกจากอำนาจไปเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2024
ชนกลุ่มน้อยอะละวี ซึ่งแตกสาขามาจากอิสลามนิกายชีอะห์ เคยมีอำนาจอย่างกว้างขวางในซีเรีย ภายใต้การนำของ "บาชาร์ อัล อัสซาด" โดยมีอิทธิพลเหนือหน่วยงานความมั่นคงที่ "บาชาร์ อัล อัสซาด" ใช้เพื่อปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ในช่วงสงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึง 13 ปี ซึ่งรวมถึงใช้ในการปราบปราม ผู้เห็นต่างตลอดหลายทศวรรษของการปกครอง ที่โหดร้ายภายใต้รัฐตำรวจของ "บาชาร์ อัล อัสซาด"
กองกำลังความมั่นคงเริ่มปฏิบัติการในตาร์ตุส เพื่อควบคุมความมั่นคง เสถียรภาพ และสันติภาพของพลเรือน ซึ่งรวมถึงการไล่ล่าซากตกค้างของกองกำลัง "บาชาร์ อัล อัสซาด" ที่ยังหลบซ่อนตามป่าเขา และ การปราบปรามดังกล่าวเกิดขึ้น ในขณะที่ทางการซีเรียออกมาเตือนถึงความพยายาม ในการปลุกปั่นความขัดแย้งทางศาสนา หลังจากที่มีการเผยแพร่วิดีโอบนสื่อโซเชียล เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2024 ซึ่งแสดงให้เห็นภาพเหตุเพลิงไหม้ภายในสักการสถานของชาวอะละวี ในเมืองอะเลปโป
กระทรวงมหาดไทยของซีเรีย ได้ออกมากล่าวว่า "เหตุรุนแรงดังกล่าวน่าจะเป็นฝีมือของ กลุ่มบุคคลที่ไม่ทราบฝ่าย" และ "เจ้าหน้าที่กำลังทำงานทั้งวันทั้งคืน เพื่อปกป้องศาสนสถาน"
กลุ่ม "ฮายัต ทาห์รีร์ อัล ชาม" ซึ่งเป็นอดีตเครือข่ายของอัลกออิดะห์ และ เป็นผู้นำในการต่อสู้ จนสามารถโค่นล้ม "บาชาร์ อัล อัสซาด" ได้สำเร็จนั้น ได้ออกมาย้ำหลายครั้งว่า "เราจะให้ความคุ้มครอง แก่ชนกลุ่มน้อยต่างๆที่อาศัยอยู่ในซีเรีย" ท่ามกลางความหวาดกลัวของชนกลุ่มน้อยเหล่านั้น รวมถึงชาวคริสต์ ที่กังวลว่ารัฐบาลใหม่อาจพยายามจัดตั้งรัฐบาลอิสลามขึ้นมา และ สังหารผู้นับถือศาสนาอื่น
กระทรวงสารนิเทศของซีเรีย ได้ออกประกาศห้าม "การเผยแพร่เนื้อหาหรือข่าวสารใดๆ ที่มีลักษณะยั่วยุ ซึ่งทำให้เกิดความแตกแยกทางศาสนา..."