ถอดบทเรียนจาก "แบงค์ เลสเตอร์" คอนเทนต์ที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์
บทเรียนจาก "แบงค์ เลสเตอร์" คอนเทนต์ที่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ คนซัพพอร์ต คนดู ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้
กรณีการเสียชีวิตของ "แบงค์ เลสเตอร์" ไม่ใช่แค่เรื่องน่าเศร้าสำหรับครอบครัวและเพื่อนฝูงเท่านั้น แต่เป็นภาพสะท้อนของสังคมคอนเทนต์ยุคใหม่ที่หิวกระหายยอดไลค์และเอนเกจเมนต์จนลืมคำนึงถึงศีลธรรมและความเป็นมนุษย์ การใช้ชีวิตของใครบางคนเพื่อสร้างความบันเทิงหรือเสียงหัวเราะบนความทุกข์ของผู้อื่น กลายเป็นเรื่องปกติที่หลายคนมองข้ามไปอย่างง่ายดาย กรณีนี้ควรเป็นอุทธาหรณ์สำคัญถึงขอบเขตของการสร้างคอนเทนต์ และความรับผิดชอบของผู้สร้างคอนเทนต์ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
ในยุคที่การคลิก การแชร์ และการแสดงความคิดเห็นมีค่ามากกว่าศักดิ์ศรีของมนุษย์ เราเห็นภาพผู้คนแข่งขันกันบันทึกเหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การทำร้ายร่างกาย หรือความผิดพลาดของผู้อื่น โดยไม่คิดจะยื่นมือช่วยเหลือ สิ่งนี้สะท้อนถึงความเสื่อมถอยของจิตสำนึกในสังคม การบอกว่าคนเหล่านี้เพียงแค่ "หาเลี้ยงชีพ" อาจฟังดูเข้าใจได้ แต่เมื่อการทำคอนเทนต์กลายเป็นเครื่องมือที่ลดทอนศักดิ์ศรีของมนุษย์ คำถามคือเราควรยอมรับหรือไม่
คอนเทนต์ที่เรียกว่า Human Zoo หรือการนำความผิดปกติของบุคคลอื่นมาเป็นตัวตลกบนโลกออนไลน์ กลายเป็นสิ่งที่แพร่หลายและได้รับความนิยม แต่สิ่งนี้ไม่ควรได้รับการสนับสนุน ผู้ชมเองต้องมีส่วนร่วมในการหยุดวงจรนี้ โดยการเลือกเสพคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และปฏิเสธการเพิ่มยอดวิวให้กับคอนเทนต์ที่ฉวยโอกาสจากความทุกข์ของผู้อื่น เพราะทุกครั้งที่เรากดไลค์หรือแชร์ มันเหมือนเป็นการสนับสนุนให้มีคอนเทนต์แบบนี้เพิ่มมากขึ้น
ความตายของ "แบงค์ เลสเตอร์" ไม่ควรเป็นเพียงข่าวที่ผ่านไป แต่ควรเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในการเสพสื่อและสร้างคอนเทนต์ในสังคม เราต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตและศักดิ์ศรีของผู้อื่น หยุดสนับสนุนคอนเทนต์ที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ เพื่อให้บทเรียนครั้งนี้กลายเป็นแสงสว่างที่นำพาไปสู่สังคมที่มีความรับผิดชอบและเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้น