กทม. ประกาศชื่อ 9 เขต ควบคุมฝุ่น ห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ สัญจรผ่าน
กทม. ประกาศชื่อ 9 เขต ควบคุมฝุ่น ห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ สัญจรผ่าน
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ประกาศมาตรการควบคุมฝุ่น PM2.5 โดยห้ามรถบรรทุก 6 ล้อเข้าสัญจรใน 9 เขตที่กำหนดเป็นพื้นที่มลพิษต่ำ เพื่อรับมือกับปัญหาฝุ่นละอองที่มักเกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคมของทุกปี การประกาศนี้มีขึ้นหลังจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือแนวทางการลดฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ
เขตที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมฝุ่น ได้แก่ เขตดุสิต, พญาไท, พระนคร, ป้อมปราบศัตรูพ่าย, สัมพันธวงศ์, คลองสาน, สาทร, ปทุมวัน และบางรัก รวมถึงแนวถนนใน 13 เขต 31 แขวงที่มีการควบคุมเพิ่มเติม โดยจะมีการประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงเมื่อค่าฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง และมีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น
นอกจากนี้ กทม. จะเปิดลงทะเบียนบัญชีสีเขียวสำหรับรถบรรทุกที่เข้ากระบวนการบำรุงรักษา เพื่อให้ได้รับการยกเว้นจากมาตรการในเขตมลพิษต่ำ โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับกล้องวงจรปิดเพื่อตรวจสอบการฝ่าฝืน หากมีการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินสองพันบาท.
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) เตรียมใช้มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Low Emission Zone) ห้ามรถบรรทุก 6 ล้อเข้ากรุงเทพชั้นใน 22 พื้นที่ ในช่วงที่ฝุ่นอยู่ในช่วงอันตราย เพื่อลดปัจจัยต้นตอสำคัญของมลพิษ และลดความอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ มีเป้าหมาย คือรถบรรทุกดีเซล 106,578 คัน (ยกเว้น EV, NGV, EURO 5 และ 6)
สำหรับช่วงเวลาที่จะบังคับใช้มาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (พื้นที่บังคับใช้ 9 เขต+จุดตัด 39 จุด ในพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก) ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ดังนี้
- ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต
- การพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต, อัตราการระบายอากาศ (VR) น้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที และทิศทางลมจากตะวันออก
- ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด (ประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง)
ทั้งนี้ ระยะเวลาการห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ เช่น กทม. ออกประกาศฯ ในวันจันทร์ เวลา 06.00 น. รถบรรทุกจะไม่สามารถเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกได้ ตั้งแต่วันอังคาร เวลา 06.00 น. ถึงวันพฤหัสบดี เวลา 06.00 น.อย่างไรก็ดี หากค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM 2.5 เพิ่มอย่างต่อเนื่อง พิจารณาออกประกาศห้ามรถประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า รถที่ไม่อยู่ในบัญชีสีเขียว หรือรถที่มีการปล่อยมลพิษ จะไม่สามารถเข้าพื้นที่ที่กำหนดได้ หากรถที่เข้ามาในพื้นที่ผิดจากประกาศฯ จะแจ้งความ และปรับไม่เกิน 2,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 เดือน
มาตรการนี้ไม่ได้บรรเทาเฉพาะช่วงที่มีฝุ่นสูงสุดเท่านั้น เพราะมาตรการนี้จะทำให้รถบรรทุกต้องไปเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้น ผลของมาตรการจะส่งผลในช่วงอื่น ๆ ด้วย
นอกจากนี้ กทม.ยังจะต่อยอดมาตรการลดฝุ่น โครงการรถคันนี้#ลดฝุ่น ชวนทุกภาคส่วนตรวจสภาพรถ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และเปลี่ยนไส้กรองอากาศ ซึ่งตั้งเป้าหมายที่ 500,000 คัน ภายในเดือนพ.ย. 67-ม.ค. 68 โดยปีที่แล้ว (18 ธ.ค. 66-29 ก.พ. 67) ดำเนินการไปทั้งหมด 265,130 คัน (จากเป้าหมาย 300,000 คัน) ช่วยลด PM 2.5 จากภาคการจราจรได้ 13.26%
นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ยังมีมาตรการขอความร่วมมือเครือข่าย Work From Home (WFH) ในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จำนวน 5 เขต และมีแนวโน้มต่อเนื่องอีก 2 วัน โดยปีที่แล้วกทม. มีเครือข่ายภาคเอกชน 151 แห่ง 60,279 คน และได้ประกาศขอความร่วมมือ WFH ในวันที่ 15-16 ก.พ. 67 ซึ่งมีค่าฝุ่น PM 2.5 ในระดับสีแดง ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ที่สัญจรบนถนน/กล้อง/ชั่วโมง ลดลง 8% สำหรับปี 68 กทม. ขอเชิญทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่าย WFH ให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าให้ถึง 200,000 คนในปีนี้
“ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องกังวลเรื่องมาตรการ เพราะที่ห้ามรถเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก และวงแหวนกาญจนาภิเษก จะเน้นผู้ประกอบการเป็นหลัก ดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกนำรถไปรักษา และนำมาเข้าบัญชีสีเขียว โดยคาดว่าจะเริ่มมาตรการในเดือนม.ค. 68 ส่วนประชาชนส่วนใหญ่ให้ทำ 2 เรื่อง คือ เปลี่ยนน้ำมันเครื่องของตัวเอง และร่วมโครงการ WFH” นายชัชชาติ กล่าว
ด้าน นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สำหรับปี 68 คาดการณ์ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จะดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากปี 67 ได้เริ่มดำเนินตามมาตรการอย่างเข้มข้น ซึ่งผลปรากฎว่าปริมาณฝุ่นลดลงจากปี 66 ขณะเดียวกัน มาตรการที่จะดำเนินการในปี 68 ก็ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปแล้ว ทั้งหมด 3 มาตรการหลัก คือ
- ในเขตพื้นที่ป่า ควบคุมพื้นที่เผาไหม้ โดยตั้งเป้าลดลง 25% ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน, 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดกาญจนบุรี
- เขตพื้นที่การเกษตร ควบคุมพื้นที่เผาไหม้จากการเผาข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และอ้อยโรงงาน โดยตั้งเป้าหมาย ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลง 20%, 17 จังหวัดภาคเหนือ ลดลง 30%, ภาคกลาง ลดลง 10% ส่วนกลุ่มพืชเป้าหมาย ตั้งเป้า ดังนี้ ข้าว ลดลง 30%, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลดลง 10% และอ้อยโรงงาน ลดลง 15%
- เขตพื้นที่เมือง ควบคุมการระบายฝุ่นในเมือง โดยโรงงานอุตสาหกรรม ยานพาหนะ ปฎิบัติตามกฏหมาย 100%
ขอบคุนภาพจาก : กรุงเทพมหานคร
อ้างอิงจาก: https://www.facebook.com/bangkokbma?__cft__[0]=AZUmp-GJbtuUWjNP8I-owTqyIJwXW1mwghdqT-n-H8auNFcyP9gBoRzmSpTlB8bBcmBpHamosOfbQfssQIyOHP0ekfMT43GV15pLjLHczyFfCTuSZwidOzp7ZL0jU5FOOc_xIbcu0aVWRK4Yzbb6VdRHrn_A6K8nwVqy0XrhEjCYBiwCHbX-6bhYE517xzN3BqA&__tn__=-UC,P-R
https://www.infoquest.co.th/2024/441064