อ.สารภี จ.เชียงใหม่น้ำท่วมขัง!กลิ่นน้ำเน่าคลุ้งทั้งตำบล!
30 ก.ย. 67 เพจเฟซบุ๊ก SAVE Chiangmai ได้โพสต์ข้อความเรื่องราวความเดือดร้อนใน อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้โพสต์ข้อความดังนี้
ไม่อยากจะพูด! หรือเชียงใหม่ มีอำเภอเมืองอำเภอเดียว น้ำลดปุ๊บ ข่าวเงียบปั๊บ ท่วมขังมา 4-5 วัน น้ำเริ่มเน่า บางบ้านได้แจกแค่ปลากระป๋อง 2 กระป๋อง มาม่า 5 ห่อ ข้าวสารถุงเล็ก 1 ถุง ตั้งแต่วันก่อน! อย่ามาแค่ถ่ายภาพ
ชาวบ้านรอความช่วยเหลือ ต.ท่าวังตาล ต.หนองแฝก ทุกหมู่
นอกจากนี้ในการแสดงความคิดเห็นทางผู้โพสต์ที่ยังได้ลงข้อความเพิ่มเติมพร้อมรูปถ่ายภาพความเสียหายดังนี้
อัพเดต! สารภี! กลิ่นน้ำเน่า..คลุ้งทั้งตำบล
30 กันยายน 2567 ภาพมุมสูงจากบ้านหนองสี่แจ่ง หมู่ที่ 1 ตำบลหนองแฝก อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เวลา 14.30 น. สถานการณ์น้ำที่เคยท่วมชุมชน เริ่มลดลง แต่กลิ่นน้ำเน่า ตอนนี้ส่งกลิ่นคลุ้งไปทั่วทั้งตำบล หลายจุดที่เป็นพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านกลายเป็นที่รับน้ำเน่าเต็มรูปแบบ
ขณะเดียวกัน ที่บ้านบวกหัวช้าง ในพื้นที่ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำเน่าเสียต่อเนื่องเป็นวันที่ 7
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีแนวทางช่วยเหลือ ขอช่วยเหลือชาวบ้านโดยด้วยครับ อยากให้มีทั้งแผนเฉพาะหน้า และแผนแก้ปัญหาระยะยาว
#Saveสารภี #SaveChiangmai
#เชียงใหม่ไม่ได้มีอำเภอเมืองอำเภอเดียว
หลังจากการโพสต์ข้อความนี้ในเวลา 2:00 น ของวันถัดมา ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงพื้นที่อำเภอสารภี ซึ่งทางแอดมินเพจดังกล่าวก็ได้รู้สึกยินดีและเรียกร้องแผนการแก้ปัญหาระยะยาว
เขื่อนแม่งัดฯ พร้อมรับน้ำใหม่! 34 ชั่วโมง ระบายน้ำไปแล้วกว่า 17 ล้าน ลบ.ม.
ทางด้านนายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล เปิดเผยกับทีมข่าว Save Chiangmai ว่าทางเขื่อนฯได้เริ่มปิดประตูน้ำตั้งแต่เวลา 17.00 น. ที่ผ่านมา(30ก.ย.67) โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงในการปิดให้สนิท เพื่อป้องกันประตูระบายน้ำไม่ให้ได้รับความเสียหาย ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาบางส่วนจากเำจ SAVE Chiangmai
นายเฉลิมเกียรติ ยังระบุว่า จากคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดว่าจะมีฝนตกในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม 2567 แม้ไม่ได้ระบุว่าอำเภอใดจะมีปริมาณฝนตกมากเท่าไหร่ แต่ทาง สำนักงานชลประทานที่ 1 และเขื่อนแม่งัดฯ คาดการณ์และวางแผนในรับมือปริมาณน้ำ ซึ่งคาดว่าอาจมีปริมาณน้ำไหลเข้าราว 21-23 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่น่ากังวล ในการบริหารความเสี่ยงหากมีฝนตกเกินกว่าที่คาดการณ์ ก็มีแผนรองรับโดยการเปิดประตูระบายน้ำของอาคารระบายน้ำล้น (Service Spillway) เพื่อระบายน้ำออกให้สมดุลกับปริมาณน้ำไหลเข้าที่เป็นส่วนเกิน และจะเปิด-ปิดเป็นช่วงเวลา ไม่ใช่การเปิดแบบต่อเนื่องครั้งเดียว
ส่วนข้อกังวลของชาวบ้านใต้เขื่อนที่เกรงว่าหากรับน้ำเกินความจุอย่างต่อเนื่อง เขื่อนอาจพังทลายสร้างความเสียหาย ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำแม่งัดฯ ยืนยันว่าโครงสร้างของเขื่อนเป็นเขื่อนดิน ไม่ใช่เขื่อนคอนกรีต จึงไม่ต้องกังวลว่าเขื่อนจะแตกร้าว
ส่วนน้ำที่ไหลข้ามสันเขื่อน (Overtop) ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล เพราะเขื่อนแม่งัดได้รับการออกแบบให้สามารถเก็บและหน่วงน้ำได้เป็นกรณีพิเศษถึง 111% โดยแบ่งเป็นตัวเขื่อน 100% และมีอาคารระบายน้ำฉุกเฉินอีก 11% เพื่อหน่วงน้ำไม่ให้ไปรวมกับปริมาณน้ำปิงที่ไหลมาจากอำเภอเชียงดาว น้ำแม่แตง และน้ำแม่ริม หากมีความเสี่ยงที่จะไหลเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่
"เขื่อนของพ่อ ได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบเต็มศักยภาพ ช่วยชะลอ/หน่วงน้ำไม่ให้ปริมาณน้ำรวมกับแม่น้ำปิง น้ำแม่แตง น้ำแม่ริมเข้าท่วมเมืองเชียงใหม่ไว้อย่างถึงที่สุด“ นายเฉลิมเกียรติ กล่าว