ส่อแววจบ !!! แบบล้มโต๊ะ พลิกกระดานคว่ำทิ้ง
หลังจากที่ศาลปกครองชั้นต้น "สั่งทุเลา" การบังคับตามหลักเกณฑ์การร่วมทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ไว้ชั่วคราว สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ที่มีปัญหาจากกรณีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ร้องศาลฯ เนื่องจากไม่เห็นด้วยที่รฟม. มีการปรับหลักเกณฑ์ทีโออาร์ในการประมูลโครงการฯ ในซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน 100%
เหมือนจะจบ แต่ก็ไม่จบ สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนที่มีปัญหา คือ ฝั่งตะวันตก ที่จะต้องวิ่งลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา จากสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - สถานีบางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. จำนวน 11 สถานี
เมื่อยักษ์ใหญ่ด้านการก่อสร้าง และระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทยมายื่นซองประมูล 2 ราย คือ
1. บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ลงทะเบียนยื่นเอกสารเมื่อเวลา 11.19 น. ซึ่งเอกสารประกวดราคาที่นำมายื่นมีมากถึงกว่า 250 กล่อง ต้องใช้รถตู้ 2 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ จำนวน 6 คัน ขนเอกสารมายื่น และยื่นเอกสารประมูลรายเดียว ไม่ได้รวมกลุ่มกับรายใด
2 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (มหาชน) หรือ BTSC บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STECON ได้รวมกลุ่มในนามกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) เดินทางมาถึงเมื่อเวลา 13.30 น. โดยใช้รถบรรทุก 6 ล้อ 4 คัน บรรทุกกล่องเอกสารกว่า 400 กล่องมายื่น
แค่วันที่มายื่นซองประมูล ทั้ง 2 ราย ต่างก็เกทับกันด้วยจำนวนเอกสาร และจำนวนรถที่ใช้ขนเอกสารกันแล้ว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานคร ทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)
โดยผู้ชนะการประมูลจะได้สิทธิ์ติดตั้ง จัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดสายจากมีนบุรี-บางขุนนนท์ 35.9 กม. ระยะเวลา 30 ปี วงเงิน 128,128 ล้านบาท รัฐจ่ายค่าเวนคืน 14,611 ล้านบาท อยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืน และสนับสนุนเงินลงทุนเอกชนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท
ทำให้ 2 ยักษ์ด้านระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพ ต้องมาปะทะกันอีกรอบ เพื่อช่วงชิงสัมปทานมูลค่าหลายแสนล้านบาทกันอีกครั้ง
แต่กลับกลายเป็นการเปิดศึกระหว่างเจ้าของสัมปทาน คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ ผู้ยื่นประมูล คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี แทน
จากกรณีที่มีการปรับหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการพิจารณาคะแนนในซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน จนทำให้ทาง BTSC ไม่พอใจ และร้องต่อศาลปกครองให้ชี้ขาดลงมา
สำหรับศาลปกครองกลางได้มีการนัดไต่สวน คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 ระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอส (ผู้ฟ้องคดี) กับคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไปแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา
โดยบีทีเอสในฐานะผู้ฟ้องคดี ยังคงยืนยันคำฟ้อง 2 ส่วน คือ
1. ขอให้ยกเลิกเอกสารเพิ่มเติม ตามการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศออกมานอกเหนือจากเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ซึ่งมีผลทำให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกสาร จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน
2. ขอคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราว จนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งตัดสินคดี โดยประเด็นคำฟ้องดังกล่าว เนื่องจากบีทีเอสเห็นว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศขาย RFP ไปแล้วนั้น ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียบเปรียบ ไม่เป็นธรรม อีกทั้ง รฟม.ยังดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่อนุมัติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีมติเห็นชอบถึงหลักเกณฑ์การคัดเลือกในรูปแบบเดิมแล้ว
ทำให้ในวันนี้ ตามหมายกำหนดการเดิม จะต้องทราบชื่อผู้ชนะการประมูล และเปิดเผยรายละเอียดต่อสาธารณะชน กลับถูกสกัดไว้ที่ศาลปกครอง
ถ้ากูไม่ได้ ใครก็อย่าได้เลย ล้มโต๊ะ คว่ำกระดาน เปิดประมูลใหม่
โครงการล่าช้า ทำให้ประชาชนเดือดร้อนก็ไม่เป็นไร ???









