สะพานอัปยศ: สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ในแง่หนึ่ง เป็นเรื่องน่ายินดีที่เรามี “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” แต่ในอีกแง่หนึ่งนี่คือสะพานอัปยศ ที่แทนที่จะเป็นรถไฟฟ้า กลับทิ้งไว้ไม่เป็นไปตามแผน
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ให้ความเห็นต่อ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ว่า นี่เป็นสะพานที่สร้างไว้เพื่อเป็นทางรถไฟฟ้าลาวาลิน แต่ไม่ได้สร้างจนแล้วเสร็จ สะพานนี้สร้างพร้อมสะพานพระปกเกล้าที่เชื่อมระหว่างถนนจักรเพชร ในพื้นที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กับถนนประชาธิปก ในพื้นที่แขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี เป็นสะพานคู่ขาไปและขากลับ สร้างเคียงข้างขนานกันกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า เนื่องจากการจราจรบริเวณนั้นถึงจุดวิกฤต รัฐบาลจึงเห็นว่าควรมีสะพานอีกแห่งหนึ่งเพื่อช่วยระบายการจราจร โดยได้เว้นที่ช่วงกลางสะพานไว้สำหรับก่อสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินด้วย <1>
ในปัจจุบันมีโครงการก่อสร้าง “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” หรือ “สะพานพระปกเกล้าสกายปาร์ค” เพื่อปรับปรุงโครงสร้างเดิมของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลินที่สร้างค้างและไม่ได้รับผลประโยชน์มานานกว่า 30 ปี ให้เป็นสวนสาธารณะลอยฟ้าแห่งแรกของประเทศไทย พร้อมมุมพักผ่อน ทางเดิน ทางจักรยาน และจุดชมวิว เชื่อมการสัญจรฝั่งธนบุรีเข้ากับฝั่งพระนคร เริ่มตั้งแต่ปลายสะพานฝั่งธนบุรีเหนือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติถึงปลายสะพานฝั่งพระนคร มีระยะทางประมาณ 280 เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน ลงนามในสัญญาจ้างวันที่ 28 มีนาคม 2562 มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 23 มีนาคม 2563 และ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ใน วันพุธ ที่ 24 มิถุนายน 2563 <2>
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน (Lavalin Skytrain) เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้ายกระดับในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำเนินการโดยบริษัท ลาวาลิน (SNC-Lavalin) จากประเทศแคนาดา ซึ่งชนะการประมูลเหนือคู่แข่ง คือ บริษัทร่วมค้า เอเชีย-ยูโร คอนซอร์เตียม (AEC) เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 ลงนามในสัญญาสัมปทาน ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มูลค่าก่อสร้าง 55,000 ล้านบาท โครงการนี้สิ้นสุดลงในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน หลังประสบปัญหาโครงสร้างทางการเงิน ที่กำหนดเงื่อนไขให้รัฐบาลไทยต้องค้ำประกันเงินกู้ไม่มีดอกเบี้ย (ซอฟท์โลน) จากรัฐบาลแคนาดา และต้นทุนในการก่อสร้างสูงขึ้น เนื่องจากความผิดพลาดในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการโยกย้ายระบบสาธารณูปโภค <3>
ในแง่หนึ่งหลังรัฐประหาร รสช. ก็มีการล้มเลิกโครงการนี้ โดยหลังจากลงนามในสัญญาก่อสร้างแต่ปรากฏว่าในวันถัดมา ได้เกิดรัฐประหารโดยคณะ รสช. เสียก่อนในปีเดียวกันนั้นเอง และรัฐบาลที่ คมช. แต่งตั้งก็ได้ 'ทบทวน' หรือล้มเลิกแผนการสร้างรถไฟฟ้าแต่เดิมไปเสีย และในที่สุดก็ล้มเลิกโครงการไปอย่างน่าเสียดาย เพราะถ้าได้สร้าง ไทยจะมีรถไฟฟ้าก่อนสิงคโปร์เสียอีก <4>
การล้มเลิกโครงการนี้และทำให้สะพานที่สร้างเสร็จเรียบร้อยจึง “เป็นหมัน” ไปและนำมาพัฒนาเป็น “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” แทน นี่แหละคือความเป็น “สะพานอัปยศ”
สะพานอัปยศ: สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
สะพานอัปยศ: สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา