“ทีโอที” เร่งร่วมพันธมิตรเอไอเอส ชี้เป็นทางรอดองค์กร
ทีโอทีกระทุ้งรัฐเร่งไฟเขียวแผนจัดหาพันธมิตรธุรกิจร่วมเอไอเอส ชี้เป็นหนทางรอดทางธุรกิจที่ไม่สามารถรอได้อีก หวั่นกระทบสถานะทางการเงินอย่างหนักหากต้องล่าช้าสูญโอกาสสร้างรายได้ปีละกว่า 10,000 ล้าน ยอมรับจนปัญญานำโครงข่ายสื่อสารที่ได้รับมอบมาสร้างรายได้เอง
ฝ่ายบริหารทีโอทีเร่งรัดตัดสินใจแผนจัดหาพันธมิตรธุรกิจกับบริษัทลูกเอไอเอส ชี้เป็นหนทางรอดทางธุรกิจที่ไม่สามารถรอได้อีก หวั่นกระทบสถานะทางการเงินอย่างหนักหากต้องล่าช้าไร้ทิศเช่นนี้ โดยนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการลงนามในสัญญาพันธมิตรธุรกิจกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวิร์ค (AWN) ในเครือเอไอเอสว่า หากทีโอทีไม่สามารถลงนามในสัญญาพันธมิตรทางธุรกิจได้ ทีโอทีจะได้รับผลกระทบทางการเงินอย่างหนัก เพราะต้องยอมรับว่าการเจรจาเป็นพันธมิตรธุรกิจที่ทีโอที-เอไอเอสดำเนินการเจรจากันมาเป็นปีนั้น คาดว่า จะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากการนำเอาโครงข่าย และอุปกรณ์ที่โอทีได้รับมอบมาจากบริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานไปใช้ประโยชน์ปีละกว่า 10,000 ล้านบาท และคงยากที่จะไปเจรจาหรือแสวงหาพันธมิตรธุรกิจจากบริษัทสื่อสารอื่นใดได้อีก และทีโอทีเองไม่สามารถนำทรัพย์สินที่ได้รับมอบตามสัญญาสัมปทาน ไปดำเนินการใดๆ ได้เลย ขณะที่ระยะเวลาการใช้คลื่นความถี่ของทีโอทีเหลือเวลาอีกเพียง 9 ปีเท่านั้น ตามระยะเวลาที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กสทช.ที่จะสิ้นสุดในปี 2568
ดังนั้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาทางฐานะการเงินและขาดความเชื่อถือในองค์ ภายในไตรมาส 1 ของปี 2560 ทีโอที จะต้องลงนามในสัญญาฉบับจริงกับเอไอเอสให้ได้ แต่หากการลงนามเป็นพันธมิตรธุรกิจต้องมีอันเป็นไป ทำให้ไม่สามารถสร้างรายได้จากทรัพย์สินของตัวเองได้ ทั้งสถานะการเงินและขาดความเชื่อถือในองค์อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทีโอทีและเอไอเอสได้ทำสัญญาการทดลองต่อเชื่อมระบบโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกันแล้วจะใช้เวลา 6 เดือน โดยทีโอทีจะมีรายได้เดือนละ 325 ล้านบาท ซึ่งในระหว่างนี้ ได้มีการเจรจาจัดทำร่างสัญญาฉบับจริงประกอบด้วย สัญญาการให้บริการข้ามโครงข่าย (โรมมิ่ง) คลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ ระยะเวลา 9 ปี คิดเป็นเงินปีละ 3,900 ล้านบาท สัญญาการเช่าเสาโทรคมนาคม 16,500 ต้นระยะเวลา 15 ปี คิดเป็นเงินปีละ 3,600 ล้านบาท สัญญาการเช่าอุปกรณ์ 2จี ระยะเวลา 4-5 ปี คิดเป็นเงินปีละ 2,000 ล้านบาท
“ทีโอที จะพยายามอธิบายให้ฝ่ายการเมืองที่มีความสงสัยในการทำสัญญาธุรกิจกับเอไอเอสให้เข้าใจ และจะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย ทำอย่างโปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะหากสัญญาไม่เกิดขึ้น ทีโอทีจะอยู่ในฐานะลำบากเพราะไม่มีรายได้ และไม่สามารถนำทรัพย์สินที่ได้รับมอบตามสัญญาสัมปทานไปดำเนินการใดๆ ได้เลย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการดำเนินการของทีโอทีในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.59) ที่ฝ่ายบริหารนำเสนอต่อบอร์ดไปล่าสุด ทีโอทีมีรายได้ 18,125 ล้าบาท ขาดทุนไปแล้วกว่า 10,824 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนเพียง 1,293 ล้านบาทแล้ว ขาดทุนเพิ่มขึ้นมาถึง 9,531 ล้านบาท ขณะที่ปี 59 ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้ 37,459 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 14,037 ล้านบาท