ปัญหาของความกตัญญู
จากกรณีข่าวดารา ทำให้หลายท่านถามมา ว่าทำไมเมืองไทยถึงมีการเรียกร้องเรื่องความกตัญญูมาก แตกต่างจากสังคมตะวันตกมาก
ขอตอบว่า ก็เป็นความจริงว่าสังคมไทยมีค่านิยมที่เรียกร้องความกตัญญูสูงมากจริงๆ
สูงเสียจนกระทั่งไปถึงจุดที่ถือว่า "ความกตัญญู" (gratitude) เป็น "สุดยอดคุณธรรม" หรือคุณธรรมที่สูงส่งเหนือความคุณธรรมอื่นๆ หรือความกตัญญูเป็นความดีที่สูงกว่าความดีอื่น จนถึงขนาดว่า ใครทำดีอะไรแต่ถ้าไม่กตัญญูก็ถือว่าเป็นคนชั่ว และใครทำชั่วอะไรแต่ถ้ากตัญญูก็กลายเป็นคนดี
ความกตัญญูเข้มข้นในสังคมไทยแค่ไหนก็ลองดูจากที่มีคนในสังคมไทยทั่วไปเขาเขียนไว้ที่ผู้เขียนหามาลงตามรูปนี้ก็แล้วกัน
หากถามว่าทำไม? ขอบอกว่ามี 3 เหตุผลหลัก เหตุผลแรกคือ อิทธิพลของศาสนา ศาสนาหลายศาสนามักเน้นการให้เคารพเชื่อฟังและเลี้ยงดูบิดามารดามากอยู่แล้ว บางศาสนาสอนว่าถ้าลูกไม่เชื่อฟัง หรือลูกทำให้เสื่อมเสีย พ่อแม่ก็มีสิทธิเฆี่ยนตีได้หรือแม้แต่ฆ่าลูกได้โดยชอบธรรม บางศาสนาก็สอนว่าการเชื่อฟังและเลี้ยงดูพ่อแม่จะทำให้ได้ขึ้นสวรรค์ชั้นสูงกว่าการทำดีอย่างอื่น สังคมที่มีอิทธิพลของศาสนามากจะสอนกันแบบนี้ทั้งนั้น
นอกจากนี้ เรื่องศาสนาที่ว่านี้ก็ยังเป็นเรื่องของความเป็นรัฐศาสนาด้วย รัฐศาสนาทั้งหลายจะเน้นการอนุรักษ์ความเชื่อและแบบแผนปฏิบัติ ซึ่งต้องอาศัยการสืบทอดและปลูกฝังผ่านกระบวนการของครอบครัวเป็นเบื้องต้นและเป็นหลัก การเน้นคำสอนให้กตัญญูและเชื่อฟังพ่อแม่ซึ่งรวมถึงการเดินตามแบบแผนของพ่อแม่จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
เหตุผลที่สองคือ สังคมที่รัฐดูแลประชาชนยังไม่ได้ดีพอ ไม่มีรัฐสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุดีมากนัก ประชาชนก็ย่อมต้องดูแลตัวเองกันเต็มที่ ตามแบบที่สังคมยุคบรรพกาลเป็นมาโดยตลอด ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้สังคมก็ต้องเน้นปลูกฝังให้ลูกหลานรู้สึกว่ามีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพ่อแม่อย่างเต็มที่ ซึ่งหากลูกไม่ดูแล รัฐก็ย่อมดูแลไม่ไหว
เหตุผลที่สามคือ มันเป็นวัฒนธรรมพ่อแม่เป็นเจ้าชีวิต-ลูกเป็นทรัพย์สินของพ่อแม่ พ่อแม่เป็นเจ้าของลูก ยิ่งลูกสาวยิ่งเป็นทรัพย์สินของพ่อแม่ก่อนจะออกเรือน พอแต่งงานแล้วก็กลายเป็นทรัพย์สินของสามี พ่อแม่จะยกให้แต่งงานกับใครก็ได้ หรือลูกชายก็ต้องบวชให้พ่อแม่ เพื่อช่วยให้พ่อแม่ขึ้นสวรรค์ อะไรอย่างนี้เป็นต้น นี่ยังรวมถึงวัฒนธรรมอำนาจที่มีผู้ปกครองเป็นเจ้าชีวิต พ่อแม่เป็นเจ้าชีวิต รวมทั้งผู้ชายเป็นใหญ่ด้วย
ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก เช่น วัฒนธรรมการเป็นครอบครัวขยาย วัฒนธรรมการเป็น individualism กับ conventionalism ที่ต่างกัน สังคมเอเชียเน้น conventionalism มาก
ความกตัญญูยังมีความเข้มข้นมากขึ้นในกรณีของสังคมไทย เพราะยังมีการเรียกร้องให้มีความกตัญญูต่ออีกหลายบุคคลมาก ไม่เพียงแค่พ่อแม่ แต่ยังรวมไปถึงครู ซึ่งถูกอุปโลกยกให้กลายเป็นพ่อแม่คนที่สอง (แล้วก็ยังรวมไปถึงการกตัญญูต่อสถาบันอื่นๆ อีกด้วย) ซึ่งอันนี้เป็นลักษณะพิเศษในสังคมไทย
ซึ่งเรื่องที่ว่ามานี้ มันก็มีทั้งข้อดีแล้วข้อเสีย ข้อดีของความกตัญญูนั้นก็คือ มันเป็นคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คนดีต่อเราเราก็ต้องดีตอบ พ่อแม่เลี้ยงดูเรามาเราก็ต้องเลี้ยงดูท่านตอบ ใครไม่ทำเช่นนี้ก็ไม่ต้องไปทำคุณธรรมที่สูงกว่านี้แล้ว ถือว่าชั่วแน่นอน ข้อดีของความกตัญญูยังมีอีกคือ มันทำให้สังคมพื้นฐานดำรงอยู่ต่อไปได้ และมันช่วยในการถ่ายทอดความรู้และแบบแผนวัฒนธรรมพื้นฐานจากรุ่นต่อรุ่นได้ง่ายขึ้น สังคมที่ไม่มีการเชื่อฟังยอมฟังและดูแลกันจากรุ่นสู่รุ่นย่อมดำรงอยู่ไม่ได้
แต่ข้อเสียของมันคือ ถ้าไม่ทำความเข้าใจให้ดี ก็จะกลายเป็นแนวคิดที่เรียกร้องหนี้บุญคุณที่เกินพอดี จนถึงการเกิดการตอบแทนบุญคุณอย่างไม่เหมาะสมหรือผิดจริยธรรม รวมทั้งปัญหา การสร้างสังคมที่เน้นการพึ่งพาการอุปถัมป์ มากกว่าการสร้างความยุติธรรมในสังคม นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาไม่กล้าคิดต่างทำต่างจากแบบแผนเดิม
https://www.facebook.com/dr.sinchai.chaojaroenrat/posts/1236908193021361:0