ครูมีหนี้วิกฤติ 7-8 พันรายเฉลี่ยหัวละ 2 ล้านบาท เตรียมแก้แบบครบวงจรเหมือนรีไฟแนนซ์ ให้ดอกเบี้ยต่ำ!
ผู้ตรวจราชการศึกษาธิการเผยครูมีหนี้วิกฤติอาจมีถึง 1 หมื่นคนตกรายละ 2 ล้านบาทหรือถึง 20,000 ล้าน แยกเป็น 3 กลุ่มส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลาง 70-80 % พร้อมที่จะหันไปกู้สถาบันดอกเบี้ยต่ำกว่า เตรียมแก้ไขทั้งระบบจัดดอกเบี้ยต่ำเหมือนรีไฟแนนซ์
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2559 นายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมเสนอแผนยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างครบวงจรให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณา โดยแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นการศึกษาวิจัยแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินครู
หลักการคือจะรวมกลุ่มสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้ครูทั้งหมดมาทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู ในการปล่อยกู้ให้กับครูในอัตราดอกเบี้ยต่ำลักษณะเดียวกับการรีไฟแนนซ์ แต่มีข้อแม้ว่าหากครูตัดสินใจกู้เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินกับโครงการนี้แล้ว จะไม่มีสิทธิ์ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินใดอีก
นายพิษณุกล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์จะแยกกลุ่มครูที่เป็นหนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มหนี้วิกฤต ที่ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน จากการสำรวจในช่วงปี 2553-2554 พบว่า มีครูที่มีหนี้ขั้นวิกฤตประมาณ 7,000-8,000 คน ยอดหนี้รวม 20,000 ล้านบาท เฉลี่ยแล้วเป็นหนี้รายละ 2,000,000 บาท
กลุ่มที่ 2 กลุ่มลูกหนี้ชั้นดี มีความสามารถในการชำระหนี้ไม่เดือดร้อน และ
กลุ่มที่ 3 กลุ่มลูกหนี้ชั้นกลาง กลุ่มนี้มีประมาณ 70-80% ของจำนวนครูที่เป็นหนี้ทั้งระบบ และพร้อมที่จะย้ายไปสถาบันการเงินแหล่งใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่เดิม
ทั้งนี้จะตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษา และทบทวนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 เดือน เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไป