"ศาลเจ้า" อยู่ในศาสนาใด? สังกัดกรมการศาสนาหรือไม่? มีกฎหมายใดควบคุม?
ถามมาว่า "ศาลเจ้า" อยูในศาสนาใด? สังกัดกรมการศาสนาหรือไม่? มีกฎหมายใดควบคุม?
ตอบ: ศาลเจ้าในประเทศไทย เป็นความเชื่อเชิงศาสนาของคนเชื้อชาติต่างๆ มีทั้งของไทย จีน ลาว กัมพูชา อินเดีย ไม่ได้อยู่ในศาสนาหลักใด แต่ก็บอกว่าเป็นพุทธกันทั้งนั้น แต่ถ้าจะพูดให้ถูกต้องและยุติธรรมจริงๆแล้วก็ต้องเรียกว่าเป็น "ศาสนาพื้นบ้าน" หรือ folk religion ซึ่งเป็นศาสนาหลักของประเทศไทย
ศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ ศาลพระพรหม ศาลเทพเจ้าต่างๆในศาสนาพราหมณ์ ศาลเจ้าจีนของเทพต่างๆ ศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่ต่างๆ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ก็รวมอยู่ในข่ายนี้ทั้งสิ้น
ศาลเจ้าไม่ได้อยู่ในการดูแลของกรมการศาสนา แต่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
และไม่ถือเป็นศาสนสถานของศาสนาใดที่อยู่ภายใต้กฎหมายหรือพระราชบัญญัติของศาสนาใดโดยเฉพาะ แต่อยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "กฎเสนาบดี" ที่ว่าด้วย "ที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้าพระพุทธศักราช 2463" (หมายเหตุ: กฎเสนาบดี ก็คือกฎกระทรวงนี่เอง แต่เดิมเรียกเช่นนั้น ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนการเรียกชื่อตำแหน่ง "เสนาบดี" มาเป็น "รัฐมนตรี" ในปีพ.ศ.2475)
เนื้อหากฎเสนาบดีหรือกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ว่า
1. ศาลเจ้าที่จะต้องจดทะเบียนให้อยู่ในความดูแลของทางราชการ ต้องตั้งอยู่ในที่ดินซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ปกปักรักษาเท่านั้น เช่น ตั้งอยู่ในที่ดินของศาลเจ้าที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ ที่ป่าไม้ ที่ป่าสงวน
2. ศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในที่ดินของเอกชนไม่ต้องจดทะเบียน แต่ถ้าได้อุทิศที่ดินให้เป็นสมบัติสำหรับศาลเจ้าโดยสิทธิขาดแล้ว ต้องจดทะเบียนเป็นศาลเจ้าที่อยู่ในความดูแลของทางราชการ
3. ศาลหลักเมืองซึ่งมี อยู่ทุกจังหวัด เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่น ไม่ถือว่าเป็นศาลเจ้าซึ่งจะต้องจดทะเบียนให้อยู่ในความดูแลของทางราชการ
4. อนุสาวรีย์รูปเคารพต่างๆ มีการก่อสร้างอาคารประกอบ ไม่ถือว่าเป็นศาลเจ้าที่จะต้องจดทะเบียนให้อยู่ในความดูแลของทางราชการ
5. การก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงในที่ดินของศาลเจ้า ต้องแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือต่อนายอำเภอท้องที่ และต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่า ราชการจังหวัดก่อนจึงจะกระทำการนั้นได้
6. ศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ในที่ดินของเอกชนและได้จดทะเบียนศาลเจ้ากับกรมการปกครองแล้ว ถือว่าเป็นการ จดทะเบียนที่ไม่ถูกต้อง อาจเพิกถอนหรือจำหน่ายออกจากทะเบียนได้
7. ศาลเจ้าไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ดังนั้น ในการออกโฉนดที่ดินของศาลเจ้า จึงต้องออกโฉนดที่ดินในนามกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
8. ที่ดินของศาลเจ้าซึ่งออกโฉนดที่ดินในนามกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ถือว่าเป็นที่ดินของศาลเจ้า ไม่ใช่เป็นที่ดินของกรมการปกครอง หรือของกระทรวงมหาดไทย หรือของรัฐบาล
9. ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่สามารถแต่งตั้งบุคคลเดียวกันให้เป็นทั้งผู้จัดการปกครองศาลเจ้าและผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าในศาลเจ้าเดียวกัน
10. ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจแต่งตั้งผู้จัดการปกครองศาลเจ้า หรือผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าหลายคนในศาลเจ้าเดียวกันได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
11. กิจการของศาลเจ้า ให้ผู้จัดการปกครองศาลเจ้ากับผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้าตกลงกันทำ หากมีความเห็นต่างกัน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ชี้ขาด