อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าฯเผยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากไทยสุดยอดขายดีในคุกสหรัฐ-ปี 2558 ส่งออก 1,069 ล้านดอลลาร์
บะหมี่สำเร็จรูปจากเมืองไทยขายดีในคุกสหรัฐ ปี 2558 ส่งออกไปสหรัฐถึง 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,950 ล้านบาท
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากไทยอาหารสุดยอดในคุกสหรัฐ นักโทษนิยมทดแทนอาหารหลักที่ไม่ถูกปาก ง่ายต่อการปรุงมีขายในร้านของเรือนจำเผยยอดส่งออกปี 2558 สูงถึง 1,069 ล้านดอลลาร์ สหรัฐสูงอันดับแรก 170 ล้านดอลลาร์ที่เหลือส่งไปจีน-เมียนมาและอาเซียน
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทูตพาณิชย์และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (เอชทีเอ) ในสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันทำการตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของไทยเข้าสู่เรือนจำของสหรัฐ โดยสินค้าดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก เปรียบเสมือนเป็นสินค้ามูลค่าสูงทดแทนการใช้จ่ายในรูปแบบเงินตรา เนื่องจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีรสชาติถูกปากและมีความหลากหลาย จึงได้กลายเป็นอาหารเลิศรสสำหรับนักโทษในเรือนจำ
ปัจจัยหลักที่ทำให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยมในหมู่นักโทษ คือ คุณภาพที่ลดลงและรสชาติที่ไม่ถูกปากของอาหารในเรือนจำ เนื่องจากงบประมาณด้านอาหารของนักโทษไม่สามารถตอบสนองต่อจำนวนนักโทษที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้นักโทษจำนวนมากต้องบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพื่อทดแทนอาหารหลัก เนื่องจากมีราคาถูกและมีรสชาติที่ดีกว่าอาหารเรือนจำแล้ว ยังง่ายต่อการปรุงและให้พลังงานสูง อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ที่ร้านค้าของเรือนจำอีกด้วย
“ในเรือนจำสหรัฐมีระบบเศรษฐกิจของตนเอง นักโทษไม่ได้ใช้จ่ายด้วยเงินสด แต่ใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้า สินค้าแต่ละประเภทจะมีมูลค่าที่แตกต่างกันและจะสามารถแลกเปลี่ยนกับสินค้าประเภทอื่นๆ ได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน สินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเศรษฐกิจเรือนจำสหรัฐคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยถูกยกให้เป็นมาตรฐานทองคำในระบบเรือนจำ” นางมาลีกล่าว
นางมาลีกล่าวว่า รายงานสถิติการส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปส่งออกไทยไปทั่วโลกพบว่า เมื่อปี 2558 มีการส่งออกรวม 1,069 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปสหรัฐสูงเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นมูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยเมียนมาและจีน
ทั้งนี้ การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรก (มกราคม-กรกฎาคม) ของปี 2559 ไทยส่งออกเพิ่มขึ้น 4.6% คิดเป็นมูลค่า 640 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาเป็นจีน ฟิลิปปินส์ และเมียนมา โดยแนวโน้มการส่งออกในตลาดอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
ส่วนตลาดยุโรป มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดสหราชอาณาจักรและเนเธอแลนด์
ในสหรัฐอเมริกามีสำนักงาน 5 แห่งที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการค้าประกอบด้วย สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงวอชิงตัน,สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 4 แห่งในสหรัฐ อเมริกา (นิวยอร์ก, ชิคาโก, ไมอามี, และลอสแอนเจลิส)