คลังสรุปยิ่งลักษณ์ต้องชดใช้ 3.5 หมื่นล้านชี้นโยบายรับจำนำข้าวไม่ผิด แต่ผิดเพราะประมาทร้ายแรงสตง.และป.ป.ช.ติงแล้วยังเดินหน้า
คลังสรุปเสียหายจำนำข้าว 1.8 แสนล้าน“ยิ่งลักษณ์”ต้องรับผิดชอบ 20 %หรือ 35,717 ล้านบาท อีก 80 % ต้องหาคนรับผิดชอบต่อไป ชี้ยิ่งลักษณ์มีนโยบายรับจำนำข้าวไม่ผิด แต่ผิดในฐานะประมาทร้ายแรงทำให้เสียหายทั้งสตว.และป.ป.ช.ติงแล้วยังเดินหน้า กรุงเทพโพล 63 % เห็นด้วยกับกรมบังคับดคียึดทรัพย์โครงการข้าว
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2559 นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าคณะกรรมการความรับผิดทางแพ่ง กระทรวงการคลังได้พิจารณาสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด สรุปความเห็นความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ส่งหนังสือท้วงติงว่าจะเกิดความเสียหายจากการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 56/57 แต่ยังเดินหน้ารับจำนำข้าวต่อไปอีก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จึงมีความประมาทร้ายแรงก่อให้เกิดความเสียหายในการรับจำนำข้าววงเงิน 1.8 แสนล้านบาท จึงได้พิจารณาการรับผิดตามกฎหมาย กำหนดให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์รับผิดชอบเฉพาะตัวแต่เพียงผู้เดียว ในสัดส่วนร้อยละ 20 ของมูลค่าความเสียหาย 1.8 แสนล้านบาท หรือเป็นเงินต้องรับผิดชอบจำนวน 35,717 ล้านบาท
นายมนัส กล่าวว่า ในประเด็นการดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวตามที่หาเสียงเลือกตั้งและรายงานต่อสภานั้น ถือว่าไม่มีความผิด แต่เป็นความผิดที่เกิดขึ้นในฐานะผู้บังคับบัญชาในการเดินหน้ารับจำนำข้าวต่อไป ซึ่งต้องระวังความเสียหายที่เกิดขึ้น
สำหรับความเสียหายในสัดส่วนร้อยละ 80 ที่เหลืออยู่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรับไปดำเนินการพิจารณาขั้นต่อไป เมื่อมีการชี้มูลความผิดเพิ่มเติม ซึ่งพบว่ามีหลายบุคคลเกี่ยวข้องกับความผิดดังกล่าว เพราะยังมีอายุความดำเนินดคีเอาผิด 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2554-2564 และการลงนามรับรองความเสียหายจากการจำนำข้าวในครั้งนี้ไม่รู้สึกหนักใจ เพราะได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องก่อนเกษียณอายุราชการ
กรุงเทพโพลล์เผยประชาชน 63% เห็นด้วย ม.44 ให้กรมบังคับคดียึดทรัพย์
กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ประชาชนคิดเห็นอย่างไรต่อการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,150 คน จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
ผลสำรวจความเห็นต่อการใช้มาตรา 44 ให้อำนาจกับกรมบังคับคดีในการตรวจสอบคดีโครงการรับจำนำข้าว พบว่า ประชาชนร้อยละ 63.4 เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ความจริงปรากฏเร็วขึ้น (ร้อยละ 32.9) และทำให้การดำเนินคดีมีความคืบหน้าเร็วขึ้น (ร้อยละ 30.5)
ขณะที่ ร้อยละ 36.6 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า ควรให้ศาลยุติธรรมดำเนินคดีไปตามกระบวนการมากกว่า (ร้อยละ 25.4) และเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง (ร้อยละ 11.2)
สำหรับความเห็นต่อการออกคำสั่งให้มีการยึดทรัพย์กว่า 2 หมื่นล้าน จากผู้กระทำผิดโครงการรับจำนำข้าวในส่วนการซื้อขายข้าวแบบจีทูจี ประชาชนร้อยละ 44.2 ระบุว่าควรเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่น นอกเหนือจากการยึดทรัพย์ รองลงมา ร้อยละ 27.7 ระบุว่าเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่คุ้มค้าแล้ว และ ร้อยละ 14.8 ระบุว่า เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายที่น้อยไป
เมื่อถามว่า “กังวลหรือไม่ว่าผลจากการดำเนินคดีจะมีการสร้างความปั่นป่วน หรือการปลุกระดมจากกลุ่มผู้ที่ไม่พอใจคำสั่งทางการปกครอง” ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.6 ระบุว่า ไม่กังวล ขณะที่ ร้อยละ 41.4 ระบุว่า กังวล
ความเห็นต่อการดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว” ว่า ส่งผลต่อนักการเมืองและข้าราชการให้หยุดพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด ประชาชนร้อยละ 37.4 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 23.5 เห็นว่าส่งผลมาก และ ร้อยละ 21.6 เห็นว่าส่งผลค่อนข้างน้อย
ความเห็นต่อการดำเนินคดี“โครงการรับจำนำข้าว”ส่งผลอย่างไรกับสังคมไทย ประชาชนร้อยละ 35.3 ระบุว่า ทำให้นักการเมืองตระหนักถึงความสุจริตในหน้าที่ ร้อยละ 30.6 ระบุว่า ทำให้ประชาชนคิดว่ากฎหมายสามารถเอาผิดนักการเมืองได้จริง และ ร้อยละ 21.9 ระบุว่า จะได้เป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการเมืองไทย
เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อภาพรวมความคืบหน้าในการดำเนินคดี “โครงการรับจำนำข้าว” พบว่า ประชาชนร้อยละ 33.1 พึงพอใจค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 29.2 พึงพอใจมาก และ ร้อยละ 27.1 พึงพอใจค่อนข้างน้อย