อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ เผยเคล็ดลับความสำเร็จจากการ“เปลี่ยนความชอบ เป็นอาชีพ”
การค้นพบตัวเอง และรู้ถึงความชอบ ความสามารถของตัวเอง นำไปสู่การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการดำเนินชีวิต ทำให้รู้ว่าควรจะเลือกเรียนอะไรเพื่อสร้างเส้นทางไปสู่อาชีพในฝัน แต่ปัจจุบันเด็กไทยบางส่วน ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ บางคนเลือกเรียนตามค่านิยม หรือเลือกตามเพื่อน ทำให้ต้องเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบหรือไม่ถนัด และในที่สุดก็จะไม่มีความสุขกับการเรียน พอก้าวเข้าสู่วัยทำงานก็ยังหาความสุขไม่ได้เพราะไม่ได้ทำงานที่ตัวเองรักส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนงานบ่อย ถูกเลิกจ้าง ขาดความมั่นคงในชีวิต
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการร่วมสนับสนุนการค้นพบตัวเอง ผ่านภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจ ของโครงการ “ฝีมือชน คนสร้างชาติ” โดยมูลนิธิเอสซีจี เพื่อร่วมสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ค้นหาความชอบของตนเอง และเลือกเรียนในเส้นทางสายอาชีพที่สามารถสร้างความมั่นคงได้ในอนาคต แม้ในปัจจุบันการเรียนสายนี้อาจไม่ได้เป็นค่านิยมหลักของสังคม แต่บุคลากรที่จบสายอาชีพกลับเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมากในฐานะ “ฝีมือชน” ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เผยว่า จากการดำเนินโครงการ “ฝีมือชน คนสร้างชาติ” ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 นั้น พบว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้เยาวชนประสบความสำเร็จ มีความสุขในการเรียน การทำงาน ต้องเริ่มต้นจากการค้นพบความชอบความถนัดของตนเอง นำไปสู่การเรียน และการเลือกอาชีพที่เหมาะสม จึงเป็นที่มาของการส่งเสริมแนวคิด “เปลี่ยนความชอบ เป็นอาชีพ” ผ่านภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ ในขณะนี้
“เราได้เฟ้นหาไอดอลฝีมือชนคนต้นแบบทั้งสาขาช่างอุตสาหกรรมสาขาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สาขาคหกรรมและสาขาอาหารและโภชนาการ ซึ่งเป็นคนที่ค้นหาความชอบของตัวเองเจอ และนำมาเป็นแรงผลักดันพัฒนาจนประสบความสำเร็จในอาชีพ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนได้ค้นหาความชอบ ความถนัดของตัวเอง รวมถึงเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ เห็นโอกาสประสบความสำเร็จของบุคคลที่เรียนสายอาชีวศึกษา ซึ่งสายอาชีวศึกษาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับให้น้องๆ ได้เลือกเรียนตามความชอบ ความถนัด และประสบความสำเร็จในอาชีพได้”สุวิมล กล่าว
ธีร์ บุญวาสนา เจ้าของบริษัทอยุธยา สร้างบ้าน จำกัด หนึ่งในไอดอลฝีมือชน ที่ค้นหาความชอบในการวาดเขียนของตัวเองเจอตั้งแต่วัยเด็ก ต่อยอดพัฒนามาจนประสบความสำเร็จสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจรับสร้างบ้านแถวหน้า ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ให้ดูแลการก่อสร้างบ้านที่มีมูลค่าหลายสิบล้านบาทในปัจจุบันเผยถึงจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนความชอบ เป็นอาชีพของตนเองว่า เริ่มจากตามพ่อที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างไปที่ไซต์งาน และได้มีโอกาสเห็นแบบพิมพ์เขียว ตอนนั้นรู้สึกชอบ และรู้สึกว่าพิมพ์เขียวน่าสนใจมาก มีรายละเอียดเยอะแยะ คนที่อ่านแบบได้ก็ดูเก่งมาก จึงมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นสถาปนิก
“ช่วงที่จบม.ต้น อาจารย์แนะแนวเห็นว่าเราชอบวาดเขียน เลยแนะนำให้เรียนสายอาชีพ เราก็ชอบจึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อ ปวช. ปวส.สาขาเทคนิคสถาปัตยกรรม พอได้เข้ามาเรียนในสายอาชีพแล้ว ก็รู้ว่ามาถูกทาง มันเป็นสิ่งที่เราชอบ ได้เรียน ได้ปฏิบัติจริงทุกอย่าง เมื่อได้เรียนรู้จนมีความชำนาญก็ทำให้เราสามารถรับงานเขียนแบบ สร้างรายได้ระหว่างเรียน พอจบ ปวส.ก็เริ่มทำงานเป็นสถาปนิก และเรียนต่อปริญญาตรีไปด้วย หลังทำงานสถาปนิกอยู่ประมาณ 7-8 ปี ก็ได้ออกมาทำธุรกิจรับสร้างบ้านของตัวเองจนถึงปัจจุบัน”
ธีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพของตนเอง เป็นเพราะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร มีความถนัดด้านไหน และกล้าที่จะมุ่งเป้าเลือกเรียนในสิ่งที่ชอบตั้งแต่ต้น
“ผมเลือกเรียนสาขาสถาปัตยกรรมตั้งแต่ปวช.แล้วต่อ ปวส. ก่อนที่จะต่อปริญญาตรี เลยทำให้มีประสบการณ์ความรู้ที่ค่อนข้างแน่น มีเด็กหลายคนเหมือนกันนะครับที่ไม่รู้ว่า สาขาวิชาสถาปัตยกรรมสามารถเริ่มเรียนได้ตั้งแต่ ปวช. โดยไม่จำเป็นต้องไปรอเรียนตอนช่วงมหาวิทยาลัยก็ได้ ผมเลยอยากแนะนำน้องๆ ว่า ถ้ารู้ตัวว่าชอบอะไร อยากเรียนด้านไหน ให้ลองหาข้อมูลจากหลายๆ ด้าน จะได้ไม่พลาดโอกาสในการเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถ้าชอบลงมือปฏิบัติ ผมแนะนำเลยให้มาเรียนอาชีวะ มีอนาคตแน่นอน แต่ต้องไม่ลืมที่จะฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่เสมอด้วยครับ” ไอดอลฝีมือชนเจ้าของธุรกิจ กล่าว
ด้าน เชฟแอน-ภาวิตา แซ่เจ้า อีกหนึ่งไอดอลฝีมือชน เชฟชื่อดังผู้มีประสบการณ์ในแวดวงการทำอาหารทั้งในและต่างประเทศมากว่า 17 ปี และยังเป็นผู้ช่วยของเชฟในรายการ สุดยอดเชฟกระทะเหล็ก ก็ร่วมแชร์ประสบการณ์การค้นหาความชอบของตัวเองจนทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพเชฟว่า เริ่มจากตอนเด็กๆ ช่วยแม่ทำกับข้าว แล้วแม่ชมว่าอร่อย ทำให้ตนมีความมั่นใจ กลายเป็นความสุขทุกครั้งที่ได้ทำอาหาร
“พอจบมัธยมต้น พ่อก็เลยแนะนำให้เข้าเรียนต่ออาชีวะ สาขาคหกรรม เพราะพ่อเห็นว่าชอบทำอาหาร และมองว่าเรียนสายอาชีพจบแล้วมีงานรองรับ ตัวแอนก็มั่นใจหลังจากได้เรียนว่า มันมีหลายลู่ทางที่ให้เราเลือก ถ้าหาก จบปวช.หรือ ปวส. แล้วติดปัญหายังไม่พร้อมเรียนต่อ ก็ทำงานก่อน แล้วค่อยมาเรียนต่อทีหลังก็ได้ การเลือกเรียนอาชีวะทำให้ได้รับการปลูกฝังวิชาชีพมากมาย เรียนหนักแต่ไม่รู้สึกว่าเหนื่อย คงเป็นเพราะได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ซึ่งแอนก็ได้นำมาใช้ในการประกอบอาชีพของแอนจนถึงทุกวันนี้”
เชฟแอนจบการศึกษาปวช. และ ปวส. สาขาอาหารและโภชนาการ และต่อปริญญาตรี ภาควิชาอาหารและโภชนาการ ช่วงเวลาหลังจบการศึกษา เป็นยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง หางานยาก จากที่หมายมั่นว่าจะไปเป็นนักโภชนาการประจำโรงพยาบาล ก็ต้องผันตัวมาเป็นผู้ช่วยกุ๊ก (Cook Helper)
“แอนเริ่มต้นจากการเข็นวัตถุดิบ ไม่ได้มีโอกาสอยู่หน้าเตา แต่ถึงอย่างนั้นแอนก็ยังมีความสุขในการได้ทำงาน เพราะเป็นสิ่งที่แอนชอบ มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงาน พอทำงานไปได้ระยะหนึ่งหัวหน้าเห็นถึงศักยภาพของเรา ก็ได้รับโอกาสให้ลงเตา ปรุงอาหาร ต่อมาก็ได้ไปเป็นผู้ช่วยเชฟเอียน ที่ร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกาอยู่นาน 6 ปี ซึ่งสิ่งที่เราเรียนรู้ตั้งแต่สมัยเรียนอาชีวะมา มันสอนเราหมดเลย เราได้นำมาใช้หมดเลย”
“สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จในอาชีพ แอนคิดว่าอย่างแรกเป็นเพราะแอนโชคดีที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และได้พ่อแม่ช่วยชี้แนะแนวทาง สนับสนุนให้เลือกเรียนสายอาชีวะตามความถนัดของเรา ถ้าไม่อย่างนั้น แอนอาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ก็ได้ เพราะการเรียนในสายอาชีวะช่วยให้แอนได้มีทักษะด้านวิชาชีพในเชิงลึกได้เรียนรู้ และฝึกฝนทักษะ เสริมสร้างประสบการณ์ จนเรามีความเชี่ยวชาญตั้งแต่ตอนเรียน และก็สามารถนำมาต่อยอดเป็นอาชีพที่ตัวเองรักได้ แอนเชื่อว่าถ้าเรามีความขยัน ตั้งใจ มีวินัยในตัวเอง อนาคตก็ประสบความสำเร็จได้ไม่ยากค่ะขอบคุณอาชีวะที่ทำให้แอนมีวันนี้” เชฟแอน กล่าวทิ้งท้าย
เป็นประสบการณ์ดีๆ ที่มาจากการ “เปลี่ยนความชอบ เป็นอาชีพ” และเลือกเรียน “อาชีวะ” ของเหล่าฝีมือชนที่คนรุ่นใหม่น่าจะลองนำไปเป็นแบบอย่างเพราะการค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร และกล้าที่จะมุ่งมั่นไปในเส้นทางที่ตัวเองเลือก อย่างการเลือกเดินในเส้นทางสายอาชีวะ ที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งทำให้ผู้เรียนประสบความสำเร็จในชีวิต มีหน้าที่การงานมั่นคง มีความก้าวหน้า เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ทั้งยังเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศ สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้แข่งขันกับนานาชาติได้