นายกฯให้อำนาจกรมบังคับคดีใช้บังคับทางปกครองเรียกค่าเสียหายคดีจำนำข้าว-เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกระบายข้าว-ข้าวโพด-มันสำปะหลังเน่าเสียมาก
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นายกรัฐมนตรีใช้ ม.44 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองเรียกค่าสิน ไหมคดีจำนำข้าว “วิษณุ”ชี้แจงคำสั่งคสช.มาตรา 44 ตั้งกรมบังคับคดี ยึด อายัดทรัพย์คดีข้าว เหตุทรัพย์สินและความเสียหายจำนวนมาก“พาณิชย์”นัดหารือกรมบังคับคดี เผยเจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้นในการระบายข้าว-ข้าวโพด-มันสำปะหลังในสต๊อค ไม่ต้องรับผิด
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 56/2559 เรื่อง การคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและการ ดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิด ตามที่ได้มีการดำเนินการโครงการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โครงการแทรกแซงมันสำปะหลัง หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรากฏว่าในปัจจุบันยังมีผลิตภัณฑ์ทาง การเกษตรดังกล่าวคงเหลือในการดูแลของรัฐที่เก็บอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก หากการเก็บรักษาและการควบคุมดูแลหรือการระบายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเหล่านี้ ออกสู่ตลาดอย่างไม่รอบคอบรัดกุมหรือไม่สุจริต
กรณีเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศเพราะรัฐ ต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อไม่ให้การบริหารจัดการและการเก็บรักษา ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่คงเหลือเกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐต้องเร่งตรวจสอบปริมาณและคุณภาพรวมทั้งวางมาตรการระบายผลิตภัณฑ์ ทางการเกษตรออกสู่ตลาดให้เหมาะสม มิฉะนั้นจะเสื่อมสภาพจนเสื่อมราคา กระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในฤดูกาลปัจจุบันและฤดูกาลใหม่ที่จะมาถึง จนเกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ
ทั้งต้องดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิดเพื่อให้ชดใช้ความ เสียหายแก่รัฐอันเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความเสียหายต่อความมั่น คงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้บุคคล คณะบุคคล คณะทำงาน คณะกรรมการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายหรือได้รับมอบหมายจากหัว หน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง หรือคณะกรรมการนโยบายข้าวโพด ให้ดำเนินการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหรือข้าวโพดที่อยู่ในการดูแล รักษาของรัฐ ดังต่อไปนี้
(1) โครงการแทรกแซงมันสำปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้น
(2) โครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หรือภายหลังจากนั้นยังคงมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการดังกล่าวต่อไปเช่นเดิม ทั้งนี้ เพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพิ่มขึ้นเพราะเหตุแห่งความ เสื่อมสภาพของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหรือข้าวโพด การแตกต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์หัวมันสำปะหลังสดหรือข้าวโพดที่รับจำนำกับ ราคาที่จำหน่ายได้
การที่รัฐต้องรับภาระค่าเช่าคลังค่าประกันภัย ค่าดูแลรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหรือข้าวโพด ค่าใช้จ่ายอื่นและดอกเบี้ย และเพื่อป้องกันมิให้การระบายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังหรือข้าวโพดเป็นการเพิ่ม อุปทานตลาดในช่วงเวลาเดียวกับที่มีผลผลิตฤดูกาลใหม่โดยไม่สมควร รวมทั้งดำเนินการเพื่อให้ทราบตัวผู้ต้องรับผิดและเรียกให้ผู้นั้นชดใช้ความ เสียหายแก่รัฐตามกฎหมาย
ในกรณีที่บุคคลตามวรรคหนึ่งได้กระทำการไปตามอำนาจ หน้าที่โดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติและไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
ข้อ 2 เมื่อได้มีคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล แล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 โครงการแทรกแซงมันสำปะหลังของรัฐตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2551/2552 ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว และให้ได้รับความคุ้มครองตามข้อ 1 วรรคสอง ด้วย
ข้อ 3 ให้บุคคลตามข้อ 1 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องดำเนินการใด ๆ ตามคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาล แล้วแต่กรณี ให้มีการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการแทรกแซงมันสำปะหลังของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2551/2552 จนถึงปีการผลิต 2555/2556 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2551/2552 ได้รับความคุ้มครองตามข้อ 1 วรรคสอง ด้วยให้นำความในวรรคหนึ่ง ไปใช้บังคับกับการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิดในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของ รัฐ ตั้งแต่ปีการผลิต 2548/2549 จนถึงปีการผลิต 2556/2557 ด้วย
ข้อ 4 ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ 5 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 13 กันยายน พุทธศักราช 2559
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
กระบวนการดำเนินคดีโครงการรับจำนำข้าว
กระบวนการดำเนินคดี เพื่อเรียกความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวและการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล มีความคืบหน้าไปอีกขั้น เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้ลงนามในคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของรัฐและ การดําเนินการต่อผู้ต้องรับผิด
ในส่วนของการดำเนินการต่อผู้รับผิดนั้นคำสั่งระบุให้ ยังกำหนดให้กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง กรณีที่หน่วยงานรัฐมีคำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่ง หรือศาลมีคำพิพากษา ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของ รัฐบาล ตั้งแต่ปีการผลิต 48/49-56/57 โครงการแทรกแซงมันสำปะหลังปี 51/52-55/56 หรือโครงการแทรกแซงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่ง หรือคำพิพากษา
คำสั่งดังกล่าวเปิดทางให้กรมบังคับคดีไปดำเนินการ ยึด อายัดทรัพย์แทนหน่วยงานผู้เสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดการละเมิดของเจ้า หน้าที่ปี 2539 ได้ทันที ที่นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีที่รับมอบหมายลงนามในคำสั่งทางปกครองเพื่อเรียกชดใช้ค่าสินไหมจาก การกระทำละเมิดในคดีข้าว
วิษณุปัดใช้ ม.44 ยึดทรัพย์
เมื่อวันที่ 14 กันยายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงคำสั่งดังกล่าวว่า ส่วนที่คำสั่งนี้ระบุให้กรมบังคับคดี มีอำนาจทำหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองนั้น เพราะจะไม่มีการใช้มาตรา 44 ไปใช้ยึดทรัพย์ แต่ติดที่คดีข้าวของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ เป็นทรัพย์จำนวนมาก หลักการปกติเป็นหน้าที่ของกระทรวงต้นสังกัดที่รับผิดชอบที่ต้องยึดทรัพย์กัน เอง แต่ครั้งนี้เป็นการยึดทรัพย์จำนวนมาก ทางกระทรวงจึงออกปากบ่นว่าไม่มีคน และหากยึดมาได้ไม่มีที่จะเก็บ จึงต้องให้กรมบังคับคดีเข้าไปจัดการ ยึดทรัพย์ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อถามว่าการยึดทรัพย์นายบุญทรง งวดเข้ามาแล้วหรือยัง นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ถึงขนาดงวดเข้ามา เพราะ 1.ยังไม่ถึงขั้นออกคำสั่งในเวลานี้ 2.เมื่อมีการออกคำสั่งแล้ว ต้องพิจารณาว่านายบุญทรง จะอุทธรณ์หรือไม่ ถ้าเป็นคำสั่งของรัฐมนตรีจะอุทธรณ์ไม่ได้ ต้องไปที่ศาลปกครอง หากนายบุญทรงไม่ไปฟ้องศาลปกครองก็ต้องลงมือยึด
แต่หากไปศาลปกครองก็ยังยึดได้ เว้นแต่จะขอให้ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราว ถ้าศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวการยึดทรัพย์ก็ไม่เกิดขึ้น ก็หยุดชะงัก แต่จำเป็นต้องตั้งเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าว เพราะหากอีก 3 ปี 5 ปี 10 ปี คดีจบ ทราบผลคดี แล้วถึงเวลาที่จะต้องยึดจริงในเวลานั้น ก็กลับมาสู่กรมบังคับคดีต้องเป็นผู้ยึดทรัพย์
นายกฯเผยให้อำนาจกรมบังคับคดีไม่ใช่ใช้ ม.44 ยึดทรัพย์
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงเรื่องนี้ว่าได้ให้คำสั่งทางปกครองออกมาก่อน ไม่ใช่ใช้คำสั่งมาตรา 44 เพื่อยึดทรัพย์เขา บอกให้เข้าใจตรงกันว่าเมื่อมีผลสรุปออกมาแล้ว มีมติออกมาแล้ว ก็ดำเนินการการยึดทรัพย์ซึ่งกระทรวงพาณิชย์รู้อยู่แล้วว่า เขาไม่มีขีดความสามารถในการยึดทรัพย์ตรงนี้ คำสั่งมาตรา 44 ตนเพียงแต่ให้กรมบังคับคดีเข้าไปดำเนินการในส่วนนี้อย่าไปบอกว่าใช้มาตรา 44 ไม่ใช่ ตนไม่ทำอย่างนั้นอยู่แล้วจะผิดจะถูกคณะกรรมการเขาสอบสวนมาก็ตามนั้นขณะเดียว กันทางคดีอาญาก็ว่ากันต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง เป็นคนละเรื่อง
พาณิชย์ถกกรมบังคับคดีวางแนวทาง
นายกีรติ รัชโน รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ในส่วนประเด็นที่ให้กรมบังคับคดีใช้มาตรการบังคับทางปกครองจะรวมถึงกรณีที่ กระทรวงพาณิชย์จะส่งหนังสือบังคับทางปกครอง ไปยังผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 6 ราย เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายให้กับรัฐ โดยกรมบังคับคดีจะเป็นผู้มีอำนาจในการยึด หรืออายัดทรัพย์ และขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาคืนรัฐ โดยวันที่ 15 กันยายนนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะหารือกับกรมบังคับคดีถึงขั้นตอนการทำงานต่อไป
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ยังไม่ลงนามหนังสือคำสั่งให้นำเงินมาใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งทางปกครอง กรณีการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) 4 สัญญา ปริมาณ 6.2 ล้านตันกับนักการเมืองและข้าราชการทั้ง 6 คน ที่ถูกชี้มูลความผิดจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามในหนังสือคำสั่ง ดังกล่าวนั้น
“ในหนังสือออกคำสั่งทางปกครองจะมีการลงนาม 2 คำสั่ง คือคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้รมว.พาณิชย์ลงนามแทน และลงนามในตำแหน่งรมว.พาณิชย์ ตามที่กฤษฎีกาให้ข้อคิดเห็นไว้ ในการลงนามในตำแหน่งรมว.พาณิชย์ นางอภิรดีจะมอบอำนาจให้น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.นี้ลงนามแทน โดยอ้างเหตุผลเพื่อเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการ” แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรณีที่จะให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ลงนามในหนังสือคำสั่งทางปกครองร่วมด้วยนั้น ได้มีการนำประเด็นดังกล่าวหารือกับสำนักงานคณะกรรมการระบบข้าราชการ (กพร.) โดยกพร.ตอบตามหลักการ กลับมาว่าสามารถมอบหมายลงนามคำสั่งร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ เพราะหลักของกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ว่าห้ามลงนาม
แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ร่วมลงนามด้วย จะเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองและข้าราชการที่ถูกชดใช้ ยกมาอ้างได้ว่าทำไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีเหตุที่ต้องกระจายอำนาจ เพราะไม่ได้เป็นการบริหาราชการปกติและผู้ถูกบังคับทางคำสั่งเป็นอดีต รัฐมนตรี แต่ผู้ออกคำสั่งเป็นแค่ระดับปลัดกระทรวง จึงมีปัญหาความเหมาะสมหรือไม่
เผยต้องให้เวลา 45 วันก่อนยึด-อายัด
ขั้นตอนหลังจากนี้ ต้องรอหนังสือคำสั่งจากกระทรวงพาณิชย์ ให้นำเงินมาใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามคำสั่งทางปกครอง ไปยังผู้ต้องรับผิดจำนวน 6 ราย ให้ชดใช้ค่าสินไหมภายใน 45 วัน หากยังไม่ชดใช้ภายใน 45 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือจะมีหนังสือเตือนไปอีกครั้ง จากนั้น ภายใน 7 วันยังไม่มาชำระ จะมีการลงนามหนังสืออีกฉบับ เพื่อใช้คำสั่งมาตรการบังคับทางปกครอง ซึ่งในขั้นตอนนี้ทางกรมบังคับคดี จะเข้าไปทำหน้าที่ในการยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดนำเงินมาชดใช้
อย่างไรก็ตาม ด้านผู้รับผิดทั้ง 6 ราย จะมีเวลา 90 วัน นับจากวันได้รับหนังสือบังคับทางปกครองฯ ให้สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองภายใน 90 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือโดยขอให้ศาลปกครอง “ยกเลิกคำสั่งทางปกครอง” หาก ศาลทุเลาคดีนี้จะไปสิ้นสุดที่ศาลตัดสินสุดท้าย ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาหลายปี แต่หากศาลไม่ทุเลาคำร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับจะเดินหน้าไปตามกระบวนการ ให้นำเงินมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
อคส.ชี้ม.44หวังยับยั้งเสียหาย
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) กล่าวว่า การออกคำสั่งตามมาตรา44 ในส่วนเรื่องการคุ้มครองการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในการดูแลของ รัฐและการดำเนินการต่อผู้ต้องรับผิดนั้น เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่ที่กระทำโดยสุจริต ในการบริหารสต็อกมันสำปะหลัง จากโครงการแทรกแซงของรัฐ ตั้งแต่ปีการผลิตปี 51/52-55/56 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากโครงการแทรกแซงปี 51/52 ซึ่งได้ดำเนินการก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายของภาครัฐที่จะมีเพิ่มขึ้น
”การออกคำสั่งดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถระบายสินค้าเกษตรในสต็อกรัฐบาล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น และหากดำเนินการโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย ล่าสุด รัฐบาลมีมันเส้นในสต็อก 340,000 ตัน เสียค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเดือนละ 50 ล้านบาท ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกราว 94,000ตัน เสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 7 ล้านบาท ส่วนใหญ่เสื่อมสภาพ จึงจำเป็นต้องเร่งระบายออก” พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าว