วันที่หมอตาต่างจังหวัดหมดศรัทธา สปสช.? น่าเศร้าแท้ประเทศไทย!
วันที่หมอตาต่างจังหวัดหมดศรัทธา สปสช.?
Thaipublica : สองปีที่ผ่านมาเป็นปีที่เหน็ดเหนื่อยมากในรอบสิบปีของการเป็นหมอตาในโรงพยาบาลต่างจังหวัดในประเทศไทย
แต่..วันนี้..มันทั้งเหนื่อยและหนักกว่าวันอื่นๆที่ผ่านมาหลายร้อยเท่า
สาเหตุคงเพราะได้รับทราบข่าวที่ทำให้ถึงกับท้อแบบสุดๆ ว่าหมอตาในโรงพยาบาลของรัฐอย่างเรา ต่อให้ผ่าตัดต้อกระจกให้ชาวบ้านไปเท่าไร ก็คงไม่ตอบโจทย์ที่จะทำให้คนไทยไร้ตาบอดจากโรคป้องกันได้ซะที
มีหลายคนคงไม่ทราบว่าร้อยละ 70 ของภาวะตาบอดในคนสูงอายุเกิดจากต้อกระจก แต่ไม่ใช่ต้อกระจกทุกรายจะตาบอด ถ้าเราเพียงแค่ค้นหา เชิญชวนคนที่ตาบอดจากต้อกระจกเหล่านั้นออกมาตรวจ มารับการผ่าตัดให้หมด เราก็พร้อมที่จะประกาศให้โลกรู้ว่า “คนไทยไร้ตาบอด” มันก็ไม่น่าจะยากอะไร ถ้าหมอไทยร่วมใจกันทำ
แต่มันก็ไม่ง่ายเช่นนั้น ความจริงอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการผ่าตัดต้อกระจก ถ้าเลนส์ยิ่งขุ่นเท่าใด (เลนส์ยิ่งขุ่นคือต้อยิ่งสุก เลนส์จะยิ่งแข็ง) การผ่าตัดจะยากขึ้นเท่านั้น ถ้าเลนส์ยิ่งสุกยิ่งแข็งจะมีความยุ่งยากในการผ่าตัดใช้เวลานานยิ่งขึ้นอาจนานเป็นครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงต่อราย แม้จะยากจะใช้เวลาผ่าต่อรายนาน แต่ถามถึงความจำเป็น ความเหมาะสม เราก็ควรจัดลำดับให้คนไข้ที่แอบซ่อนอยู่ตามบ้านที่คิดว่าตัวเองตาบอด แต่แท้จริงคือเป็นต้อกระจกที่สุกเต็มที่ ได้รับการผ่าตัดก่อนคนที่ต้อยังน้อย (ยังมองเห็นอยู่)
แนวทางที่ราชวิทยาลัยจักษุร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขคิดค้น เพื่อตอบโจทย์การเร่งผ่าตัดต้อกระจกที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด คือการเชิญชวนให้มีการคัดกรองสายตาผู้สูงอายุทุกรายโดยความร่วมมือของ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุข) คัดการมองเห็นเบื้องต้น แล้วส่งผู้ที่มองเห็นไม่ชัดมาตรวจต่อที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพสต.) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขตรวจ
ถ้ายังพบความผิดปกติก็จัดให้พบทีมจักษุแพทย์พิจารณาออกวีซ่าในกรณีต้อสุกเต็มที่ (Blinding cataract)เพื่อให้ได้คิวผ่าตัดด่วน และบันทึกกิจกรรมทั้งหมดลงที่โปรแกรม vision2020
โดยในปี 2559 เกิดความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขผู้ให้การรักษาและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ผู้จัดสรรเงินค่ารักษาให้สถานพยาบาลแทนประชาชน ได้ร่วมกันออกหลักเกณฑ์ในการจูงใจโรงพยาบาลให้บันทึกข้อมูลลงโปรแกรม vision 2020 เพื่อการตรวจสอบการได้รับวีซ่าผ่าตัดด่วน โดยกำหนดค่าใช้จ่ายการผ่าตัดในกลุ่มได้วีซ่าให้สูงกว่ากลุ่มที่ต้อยังไม่สุก
แม้พวกเราชาวสาธารณสุขเหนื่อย แต่ก็สุขใจที่กำลังจะเป็นผู้ช่วยกัน ช่วยทำให้คนไทยไร้ตาบอด ดูน่าจะเป็นข่าวดีในช่วงหนึ่งปีที่พวกเราชาวโรงพยาบาลรัฐพยายามออกวีซ่าให้กับผู้ป่วยและเร่งมือกันผ่าต้อกระจกที่สุกจัด
..แต่วันนี้เรากลับได้รับข่าวร้าย สปสช.เตรียมประกาศยกเลิกเกณฑ์การจ่ายตามการออกวีซ่า ทำให้พวกเราหมอตาโรงพยาบาลรัฐ ออกจะสงสัยอยู่ในใจกันว่า เพื่อผลประโยชน์ของใครกันแน่
เมื่อไม่มีการออกวีซ่า แปลว่าผลการคัดกรองเข้าระบบ vision 2020 ไม่มีความหมายต่อการจ่ายเงินของสปสช.แก่สถานพยาบาล
ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งจัดบริการเฉพาะผ่าต้อกระจกเชิงรุก และเรียกเก็บเงินค่าผ่าตัดต้อกระจกโดยไม่สนใจว่าเป็นผู้ที่ผ่านกระบวนการคัดกรองเพื่อค้นหาคนที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดหรือไม่ นอกจากนั้นคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น ยังมีความเสี่ยงต่างๆจากการผ่าตัดโดยไม่จำเป็น เช่นการติดเชื้อจนตาบอดได้
ดังนั้นไม่อยากจะคิดเลยว่า การยกเลิกการใช้วีซ่าเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าตอบแทนแก่สถานพยาบาลนั้น สปสช.เอื้อประโยชน์ให้กับใคร และใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากกองเงินอันมหาศาล
ในขณะที่มีข้อมูลว่า ไทยเร่งผ่าตัดต้อกระจกมากในช่วง 10 ปี ถึงกว่า 1 ล้านราย ใช้เงินภาษีของคนไทยไปกว่า 10,000 ล้านบาท แต่กลับยังมีผู้ตาบอดจากภาวะต้อกระจกตกค้างอีกพอสมควร เพราะการผ่าตัดถึงกว่าห้าหมื่นรายต่อปีอยู่ในมือของภาคเอกชนที่ไม่จำเป็นต้องผ่าผู้ที่มีวีซ่า
น่าเศร้าแท้ประเทศไทย!