ต้นกล้าเล็กๆของกองทุนหมู่บ้าน ที่คนไทยมองข้าม!!
เมื่อวานนี้ (24.08.16) ทีมข่าวของเราได้มีโอกาสร่วมลงพื้นที่จังหวัดนครปฐม เพื่อติดตามการประเมินโครงการ "การบริหารจัดการและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าสมุนไพรตามแนวประชารัฐ" เพื่อติดตามให้ความสนใจ ย่องย่องเชิดชูบุคคลในชุมชน พร้อมทั้งเผยแพร่องค์ความรู้ของบุคคลในชุมชนออกสู่สายตาประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
สวนฟักข้าวของคุณเพชรน้ำหนึ่ง
กล่าวถึงโดยคร่าวๆว่าโครงการ "การบริหารจัดการและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าสมุนไพรตามแนวปนะชารัฐ" เป็นโครงการที่ภาครัฐอย่าง สทบ. รับนโยบายรัฐโดยมี ท่านสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ให้ความใส่ใจดูแลอย่างละเอียดอ่อนแตกต่างไปไม่น้อยจากโครงการอื่นๆที่เกิดขึ้นเพื่อชุมชน โดยเน้นย้ำให้โครงการนี้เห็นเป็นแบบรูปธรรมชัดเจน เพราะ"อยากให้ชุมชนเข้มแข็ง และคนในชุมชนมีรายได้และเกิดการยอมรับในระดับสากล"
คุณเชื่อหรือไม่ว่าวัฒนธรรมการต้อนรับของชาวนครปฐมนั้นอบอุ่นจริงใจอย่าบอกไม่ถูก ทันทีที่ทีมงานเข้าถึงพื้นที่ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดี จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อนบ้านและเพื่อนต่างหมู่บ้านต่างมารวมตัวกันเพื่อให้การต้อนรับทีมงานประเมินและติดตามผลที่ไปในครั้งนี้ ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นอยู่ที่บ้านของคุณเพชรน้ำหนึ่ง แก้วศรีงาม เป็นลักษณะบ้านสวน ติดริมน้ำ เสมือนโรงถ่ายละครเรือนไทย ที่มองเห็นธรรมชาติ คละเคล้าไอดินกลิ่นหอมแบบบ้านนา
ซึ่งแท้จริงแล้วคุณเพชรน้ำหนึ่ง แก้วศรีงาม ต้นกล้าเล็กๆจากโครงการ"การบริหารจัดการและยกระดับผลิตภัณฑ์สินค้าสมุนไพรตามแนวประชารัฐ" เธอเป็นเจ้าของสินค้าตราน้ำเพชรซึ่งมีสินค้าแปรรูปสมุนไพรจากฟักข้าว หลากหลาย เช่น น้ำฟักข้าว ทำจากผลฟักข้าวในสวนของตัวเอง และเทคนิควิธีการผลิตน้ำฟักข้าวในแบบฉบับคิดค้นด้วยตัวเอง แชมพูน้ำฟักข้าว และขนมหวานต่างๆที่ทำมาจากฟักข้าว แต่กำลังจะได้เป็นข่าวดีเมื่อเธอได้บอกกับทีมงานว่า สินค้าตราน้ำเพชรกำลังจะยกระดับขึ้นเป็นสินค้าของกองทุนบ้านยางพัฒนาหมู่ที่ 7 หวังสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเพิ่มขึ้น อีกทั้งให้คนในชุมชนได้มีการพูดคุยและร่วมงานกันอย่างสนุกสนาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกันทำให้ครอบครัวมีความสุขและศักยภาพของชุมชนเพิ่มมากขึ้นในหลายๆด้าน
เมื่อพูดถึงรายได้นั้น เธอกล่าวหมดใจเลยว่าตั้งแต่ทางโครงการฯ ได้ให้เธอนั้นไปออกจำหน่ายสินค้าในตลาดประชารัฐวัดโพธิ์สร้างรายได้แบบที่ไม่เคยได้มาก่อน ยอดจำหน่ายขั้นต่ำวันละ 100 ขวด แต่น่าเสียดายที่เตรียมไปจำหน่ายเพียง 300 ขวด เวลาจำหน่ายผ่านไปเพียง 2 วันก่อนจะสิ้นสุดการจัดงาน เธอก็ขายสินค้าหมดไปแล้ว สร้างรายได้เฉลี่ย 8,000-9,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณต้นทุน เธอบอกกับทีมงานว่าต้นทุนนั้น จ่ายไปเพียง 2-3% มีเพียงซื้อวัตถุดิบ เช่น น้ำตาลไม่ฟอกสี น้ำมะนาว ส่วนฟักข้าวมีสวนขนาดกลางที่ปลูกเองแบบออแกนิค ไร้สารพิษ แถมรสชาติของน้ำฟักข้าวที่ได้ลองชิมถือว่าเป็นสุดยอดนวัตกรรมเพื่อชุมชน เพราะหลายท่านอาจจะเคยได้ยินเพียงชื่อ ไม่รู้ว่าจะมีสรรพคุณมากมายถึงเพียงนี้ นอกจากนั้นฟักข้าวยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านมอีกด้วย (อ้างจากผลงานวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล)
สินค้าตราน้ำเพชร ได้รับการต่อยอดในทิศทางของการมองตลาดผู้บริโภค ก่อนจะกลายเป็นสินค้ากองทุนบ้านยางพัฒนา หมู่ที่ 7 จากวิทยากรการอบรมในโครงการ อย่างเช่น ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี คุณพรต เสตสุวรรณ คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย แนวทางการจำหน่ายและการคำนวณรายได้ชุมชนหรือครัวเรือที่ดี อย่าง ผศ.ชุมพล รอดแจ่มรวมไปถึงคุณอัครภัสสร์ ชนะจินดาโสภณ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หนึ่งในผู้บริหารโครงการฯ และวิทยากรโครงการอีกหลายๆท่านที่ร่วมให้ความรู้ผ่านบริบทของโครงการที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ผ่านมา ต่อยอดองค์ความรู้เติมเต็มความสัมพันธ์ให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นผลงานคุณภาพของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ รวมไปถึงรัฐบาลที่นอกจากจะจัดสรรเงินหลายหมื่นล้านแล้ว ยังมีการลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพของเม็ดเงินที่จ่ายออกไป ผ่านโครงการนี้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพและติดตามประเมินผลคนในชุมชนได้เป็นอย่างดี