แอน แฟรงค์ บันทึกเด็กสาวชาวยิว ในช่วงสงครามโลหครั้งที่ 2 แรงบันดาลใจข้ามกาลเวลา
–แอน แฟรงค์ แรงบันดาลใจข้ามกาลเวลา–
________________
.
ถ้าพูดถึงหนังสือที่สร้างมาจากเรื่องจริงแล้วยังคงได้รับการพูดถึงเสมือนในฐานะ ตัวแทนหนังสือที่เล่าเรื่องความโหดร้ายในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดีที่สุดคงไม่พ้นหนังสือของเด็กสาวที่ชื่อว่า อันเนอ แฟรงค์ หรือที่รู้จักกันทั่วโลกว่า แอน แฟรงค์ เป็นแน่แท้ แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปแล้วกว่าหลายสิบปี แต่หนังสือที่นำมาจากไดอารี่ของเธอนั้นยังคงได้รับความนิยมและกลายเป็นหนังสือที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำไม่มีวันรู้จบในฐานะ แรงบันดาลใจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกระเทือนทางสงคราม
.
แอน แฟรงค์ เป็นเด็กสาวชาวยิวในครอบครัวยิวหัวก้าวหน้าในเมืองแฟรงเฟริ์ต ประเทศเยอรมัน เธอเป็นเด็กเรียนดี น่ารักและชอบอ่านหนังสือ และมีความฝัน ทว่าหลังจากพรรคนาซีชนะการเลือกตั้งแบบไม่เป็นธรรมก่อนจะออกกฎหมายต่อต้านชาวยิวในช่วงปี 1933 ครอบครัวของเธอต้องหนีไปยังอันสเตอร์ดัมในประเทศฮอลแลนด์
.
กระทั่งปี 1942 ณ ช่วงเวลาที่สงครามโลกกำลังระอุ เธอได้รับของขวัญวันเกิดอายุ 13 ปี เป็นไดอารี่เล่มงามอันหนึ่ง ซึ่งเธอใช้มันเป็นบันทึกในการเขียนเรื่องราวต่าง ๆ และบอกเล่าความรู้สึกของคนรอบข้างท่ามกลางภาวะสงครามที่กำลังลุกโชนไปทั่วยุโรป
.
แอนถูกจับกุมในฐานะเชลยชาวยิวในเวลาต่อมา เธอถูกนำไปขังไว้ในค่ายกักกันก่อนเสียชีวิตลงในค่ายนั้นด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ในวัยเพียง 15 ปี
ทว่าบันทึกของเธอเหลือรอดมาได้
.
พ่อของเธอผู้รอดชีวิตจากสงครามมานั้นได้นำไดอารี่ของเธอมาเปิดอ่านแล้วพบว่า ด้านในนั้นมีข้อความที่พูดถึงเรื่องราวของชีวิตและเป็นเสมือนเสียงน้อย ๆ ที่ให้กำลังใจแก่ผู้คนมากมายได้ เขาจึงนำมันไปตีพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ The Diary of a young Girl ซึ่งกลายเป็นหนังสือบันทึกเรื่องในขณะนั้นจากฝีมือของเธอเอง
.
ในบันทึกบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึก ความคิด ความฝัน ความซื่อสัตย์และความกล้าหาญของเด็กสาวคนหนึ่งที่ได้ถูกไฟสงครามและความเกลียดชังทางเชื้อชาติที่ถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ด้วยกันทำลายจนหมดสิ้น แน่นอนว่า บันทึกนี้เป็นเพียงงานเขียนของเด็กอายุ 13 ปีเท่านั้นทำให้หลายคนมองว่ามันไม่มีโครงสร้างในวรรณกรรมที่ดีเท่าไหร่นัก แถมหลายคนยังสงสัยด้วยว่า
เด็กหญิงแอน แฟรงค์ ที่หลายคนชอบนั้นอาจจะไม่มีตัวตนอยู่จริง ?
.
เหตุผลที่ฝ่ายสงสัยยกขึ้นมานั้นก็คือ ระดับภาษาและการเขียนในนี้ดูเป็นผู้ใหญ่กว่าที่เด็กอายุ 13 จะเขียนได้ และที่สำคัญหลายคนมองว่า พ่อของเธออย่าง ออตโต แฟรงค์ อุปโลกน์บันทึกนี้ขึ้นมาด้วยซ้ำไป เล่นเอาพ่อของเธอถึงกับเดือดดาลและตัดสินใจใช้กระบวนการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งการตรวจลายมือ การพิสูจน์ทางการกฏหมายจนกระทั่งทุกอย่างได้บทสรุปแล้วว่า
.
เด็กหญิงแอน แฟรงค์ มีตัวตนจริง ๆ
.
บันทึกของเธอนั้นทำให้เธอได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 100 บุคคลสำคัญของโลกจากการจัดอันดับของนิตยสารไทม์ในโหมดวีรบุรุษวีรสตรีแห่งศตวรรษที่ 20 โดยเหตุผลที่เธอได้รับเลือกนั้นคือ
.
“ไดอารี่ของแอน แฟรงค์ แสดงให้ถึงสิทธิและพลังของการมีชีวิต ซึ่งนั้นทำให้เธอยืนหยัดเหนือผู้เคราะห์ร้าย เหนือความเป็นชาวยิวและอาจจะเหนือกว่าความดีงามบางอย่างบนโลกใบนี้”
.
แม้แต่นางฮิลรารี่ คลินตันยังกล่าวถึงแอน แฟรงค์ว่า
.
“เธอช่วยให้พวกเราหลุดพ้นจากความขลาดเขลา และชี้ให้เห็นความโหดร้ายฆ่าแม้กระทั่งความหนุ่มสาวของผู้คน”
.
ไม่แปลกที่แม้จะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่แอน แฟรงค์ยังคงมีชีวิตอยู่ในความทรงจำของผู้คนและเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนตลอดไป
.
(ข้อมูลจากนิตยสาร Bioscope , ข้อมูลจากนิตยสาร Empire , หนังสือพิมพ์ New York Times)