เชิงกระบี่ของโจผี
เชิงกระบี่ของโจผี
ในสมัยสามก๊กเรามักจะคุ้นชื่อแต่พวกขุนศึกกุนซือ ไม่ค่อยรู้จักจอมยุทธ์ยอดฝีมือกันสักเท่าไหร่ แต่ใครเลยจะรู้ว่าหนึ่งในจอมยุทธ์แห่งยุค คือ โจผี บุตรชายของโจโฉ ผู้ที่มอบจุดจบให้กับราชวงศ์ฮั่น
ในนิยายเรื่องสามก๊กดูเหมือนโจผีจะงั้นๆ แต่ในประวัติศาสตร์จริง โจผีไม่ธรรมดาเลย
เมื่อครั้งที่พระเจ้าเหวินตี้ โจผียังเป็นรัชทายาทมีโอกาสร่ำสุราจนเมามาย กับพวกขุนพล รวมถึงขุนพลเติ้งจ่าน ยอดฝีมือแห่งยุค ซึ่งเชี่ยวชาญศาสตราวุธทุกประเภทแม้แต่วิชาหมัดมวย ทั้งคู่ผลัดกันวิจารณ์วรยุทธ์แต่ความเห็นไม่ลงรอยกัน โจผีไม่สบอารมณ์จึงกล่าวว่า "ข้าเองก็เคยเรียนวิชากระบี่ชั้นยอดมา เห็นทีว่าวิชาของท่านคงเป็นวิชาจอมปลอมเสียแล้ว"
ด้วยความที่จะอวดวิชาแทนที่จะใช้ศาสตราวุธจริงๆ ทั้งคู่กลับฉวยเอาลำอ้อยที่กินเหลือนำมาใช้ต่างกระบี่ จากนั้นเดินทางไปยังท้องพระโรงแล้วประลองเชิงกระบี่กัน
ต้องอธิบายก่อนว่า คนจีนสมัยฮั่น-สามก๊ก-จิ้น ชอบเคี้ยวอ้อยเป็นลำๆ (เช่น กู้ข่ายจือจิตรกรเอกสมัยจิ้นก็ชอบแทะอ้อยเล่นแต่แทะจากโคนมาปลายไม่เหมือนชาวบ้านเขา) โจผีนั้นถึงขนาดชอบแทะอ้อยเอามากๆ ถึงขนาดเวลาว่าราชการบ้านเมืองยังแทะอ้อยไปด้วยปรึกษาข้อราชการงานกับเสนามาตย์ไปด้วย
ในการประลองยุทธิ์ครั้งนี้ปรากฎว่าโจผีมีชั้นเชิงเหนือกว่า ใช้กระบวนท่านำกระบี่ลำอ้อย "ฟัน" ที่แขนของเติ้งจ่านได้ถึง 3 ครั้ง ทุกคนเห็นแล้วก็พากันหัวร่อขบขันที่ยอดฝีมือพลาดท่าท่านอ๋องน้อย
เติ้งจ่านรู้สึกอับอายยิ่ง โจผีกล่าวว่า "กระบี่ข้าปราดเปรียวเป็นเอกภาพ แต่ยังยากจะโจมตีที่ศีรษะ ถึงเลือกโจมตีที่แขน" เติ้งจ่านได้ยินก็แค่เสียงเฮอะ แล้วจู่โจมอีกครั้ง คราวนี้ด้วยกระบวนท่าร้ายกาจ แต่โจผีระแวดระวังอยู่แล้ว ทั้งยังสวนกลับอย่างฉับไว ลำอ้อยพุ่งเข้าที่หน้าผากอีกฝ่ายเข้าเต็มเหนี่ยว จนผู้ที่ชมการประลองอดร้องหวาดเสียวไม่ได้
เมื่อรู้ผลการประลองแล้วทั้งคู่ก็กลับมาร่ำสุรากันต่อ โจผีแย้มยิ้มแล้วกล่าวว่า "เห็นทีท่านขุนพลเติ้งคงต้องสละทิ้งวิชาคร่ำครึ แล้วมารับกระบวนท่าอันพิสดารของข้าแล้ว" ผู้คนได้ยินโจผีกล่าวก็พากันหัวเราะชอบใจ
เรื่องนี้ปรากฎในพงศาวดารสามก๊ก บรรพประวัติศาสตร์แคว้นวุ่ย อรรถาธิบายหนังสือเตี่ยนลุ่น อันเป็นตำราที่แต่งโดยโจผี ผมนำมาปรับปรุงตัดทอนให้อ่านง่ายขึ้น เพื่อสะท้อนความเป็นยอดฝีมือเพลงกระบี่ของโจผี
ความจริงโจผีไม่ได้เก่งแค่บู๊แต่ยังเก่งกาจในเชิงบุ๋น ถือเป็นกวีเอกแห่งยุคสามก๊กเช่นเดียวโจโฉ ผู้พ่อ และโจสิด ผู้น้อง เพียงแต่โจโฉ เป็นกวียอดขุนศึก โจสิดเป็นกวีโรแมนติก ส่วนโจผีเป็นกวีราชันยอดฝีมือกระบี่ ในยุคของโจผียังสั่งให้ตีกระบี่ชั้นเลิศ 3 เล่ม คือเฟยจิ่ง (ดาวตก), หลิวฉ่าย (เปรียวปราด) และหัวเฟิง (คมบุปผา) เล่มที่สุดยอดที่สุดคือกระบี่ดาวตก ยาว 4 เชี้ยะ 2 นิ้ว ที่ได้ชื่อเช่นนั้นเพราะส่องประกายวิบวับราวกับดาวตก
ความชื่นชอบกระบี่ของโจผีสะท้อนอกมาในงานบันทึประวัติยุคหลังที่อุทิศเรื่องกระบี่โจผีไว้เป็นบทหนึ่งโดยเฉพาะ
*ภาพ - พระเจ้าเว่ยเหวินตี้โจผี วาดโดยเหยียนลี่เปิ่น จิตรกรเอกสมัยราชวงศ์ถัง จากภาพชุดจักพรรดิราชในอดีต (歷代帝王圖)
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10153638824576954&set=a.430946001953.211467.719626953&type=3&theater