การโจมตีแบบบันไซ” (Banzai Charge)
การโจมตีแบบบันไซ” (Banzai Charge)
ในขณะที่นักบินกามิกาเซ่ปฏิบัติการโจมตีด้วยการขับเครื่องบินพุ่งชนเรือรบของศัตรู ทหารราบญี่ปุ่นเองก็มีวิธีการโจมตีแบบพลีชีพ หรือที่โลกตะวันตกขนานนามว่า “การโจมตีแบบบันไซ” (Banzai Charge) ด้วยเช่นกัน การโจมตีชนิดนี้จะเป็นการใช้คลื่นมนุษย์ของเหล่าทหารกองทัพญี่ปุ่น เคลื่อนที่เข้าโจมตีข้าศึกในการรบขั้นแตกหัก หรือการรบที่เต็มไปด้วยความเสียเปรียบ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับเป็นเชลย หรือการยอมแพ้ การที่ทหารอเมริกันเรียกการโจมตีชนิดนี้ว่า การโจมตีแบบบันไซ ก็เพราะขณะที่เคลื่อนที่เข้าโจมตี ทหารญี่ปุ่นจะตะโกนว่า “เทนโนะเฮกะ บันไซ” ซึ่งแปลว่า “ขอให้องค์จักรพรรดิทรงพระเจริญ” การโจมตีแบบบันไซครั้งแรกๆ เปิดฉากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพ่ายแพ้ที่เกาะอัตสุ (Attu Island) ซึ่งพันเอกยาสุโกะ ยามาซากิ (Colonel Yasuko Yamazaki) สังกัดหน่วยนาวิกโยธินญี่ปุ่น ได้รวบรวมทหารจำนวนกว่าหนึ่งพันนาย เข้าตีที่มั่นของทหารอเมริกัน
โดยเขาถือดาบซามูไรนำหน้าเหล่าทหารด้วยความกล้าหาญจนสามารถเจาะแนวตั้งรับเข้าไปได้จนถึงกำลังส่วนหลังของกองทัพอเมริกัน สร้างความสูญเสียอย่างมาก ก่อนที่กำลังทหารญี่ปุ่นทั้งหมดจะถูกทำลายลง ผลจากการรบ มีทหารญี่ปุ่นรอดชีวิตเพียง 28 นาย พลเสนารักษ์ของญี่ปุ่นที่รอดชีวิตจากการสู้รบ ได้เล่าถึงยามาซากิว่า
“พันเอกยามาซากิเป็นนักรบที่กล้าหาญมาก เขารู้ว่าทหารญี่ปุ่นไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้กับกำลังของฝ่ายสหรัฐฯ ที่มีจำนวนมากกว่าได้ แทนที่จะรอวันตาย เขากลับสั่งให้ทหารทุกนายวิ่งเข้าหาความตายอย่างกล้าหาญ ก่อนตายยามาซากิบันทึกไว้ในหนังสือไดอารี่ของเขาว่า ... ฉันกำลังจะสละชีพเพื่อผืนแผ่นดินนี้ หลังจากที่มีชีวิตอยู่มาเป็นเวลา 33 ปี ... ฉันไม่เคยเสียใจ และจะไม่เสียใจที่ตัดสินกระทำการเช่นนี้ ... ขอองค์พระจักรพรรดิจงทรงพระเจริญ ... “
ทั้งการโจมตีแบบกามิกาเซ่และบันไซ ล้วนเป็นการโจมตีแบบพลีชีพทั้งสิ้น ไม่ต่างจากการโจมตีแบบพลีชีพที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในยุคปัจจุบัน หากแต่มีความแตกต่างตรงที่ “กามิกาเซ่” และ “บันไซ” เป็นการโจมตีที่มุ่งหวังต่อกำลังพล สถานที่ทางยุทธศาสตร์และอาวุธยุทโธปกรณ์ของข้าศึก มิได้มุ่งหวังทำลายล้างชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงทำให้การโจมตีของกองทัพญี่ปุ่นทั้งสองรูปแบบ ได้รับการยกย่องว่าเป็นการปฏิบัติการรบที่กล้าหาญและเสียสละ ...