ปธน. ไต้หวัน “ขอโทษ” อย่างเป็นทางการต่อ “ชนพื้นเมือง” เป็นครั้งแรก นับจากที่ "เจิ้งเฉิงกง" แม่ทัพแห่งราชวงศ์หมิงเข้ามาปกครอง
ไช่ อิงเหวิน ถ่ายภาพร่วมกับผู้นำอาวุโสของชนพื้นเมืองที่ทำเนียบประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2016
(AFP PHOTO / PRESIDENTIAL OFFICE)
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่าน (1 สิงหาคม) ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันได้ออกมาขอโทษชนพื้นเมืองที่มีบรรพบุรุษมาตั้งรกรากก่อนหน้าชาวฮั่นนับพันปีอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังจากที่ชนพื้นเมืองดั้งเดิมเหล่านี้ต้องถูกเบียดเบียนจากชาวจีนมานานนับศตวรรษ
“ฉันขอโทษต่อชนพื้นเมืองในนามของรัฐบาล เพื่อแสดงความสำนึกผิดอย่างสุดซึ้ง ต่อความเจ็บปวดและความอยุติธรรมที่พวกคุณต้องทนทุกข์ในช่วง 400 ปีที่ผ่านมา” ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าว
ไช่ นอกจากจะเป็นผู้นำหญิงคนแรกของไต้หวัน เธอยังเป็นผู้มีเชื้อสายของชนพื้นเมืองรายแรกที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของเกาะฟอร์โมซา โดยเธอเตรียมนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการเพื่อสอบสวนและมอบความเป็นธรรมให้กับชนพื้นเมือง เพื่อลดกระแสความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์
รายงานของ The Japan Times ระบุว่า เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชนพื้นเมืองหลายร้อยคนได้ออกมาประท้วงหน้าทำเนียบประธานาธิบดี เรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องสิทธิในการล่าสัตว์ และขอให้รัฐบาลมีมาตรการบังคับที่ชัดเจน
ปัญหาใหญ่ของชนพื้นเมืองในปัจจุบัน มาจากการที่รัฐบาลประกาศให้ถิ่นฐานของพวกเขาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ กระทบกับการทำมาหากิน ตามจารีตประเพณีของคนพื้นเมืองที่อาศัยการล่าสัตว์ จับปลา และหาของป่าเป็นหลัก ซึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา ไช่ ได้รับปากว่าเธอจะเพิ่มอำนาจในการจัดการตนเอง และสิทธิต่างๆ ของชนพื้นเมืองให้มากขึ้น
ข้อมูลของสื่อญี่ปุ่นระบุว่า ไต้หวันมีชนพื้นเมืองหลายกลุ่มที่อาศัยบนเกาะมานานหลายพันปี ก่อนที่ชาวดัตช์จะเข้ามาจัดตั้งอาณานิคมและนำแรงงานชาวจีนจำนวนมากมายังเกาะในช่วงศตวรรษที่ 17
ทัพเรือ "เจิ้งเฉิงกง" แห่งต้าหมิงเข้าโจมตีไต้หวันในขณะที่ชาวดัตช์กำลังปกครอง
( ขอบคุณภาพจาก http://www.komkid.com )
ชาวดัตช์ถูก เจิ้งเฉิงกง แม่ทัพชาวฮั่นผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิงขับไล่ออกไป แต่สุดท้ายผู้สืบอำนาจต่อจากเขาก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับราชวงศ์แมนจู (ชิง) ซึ่งรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ขณะนั้นเข้ามาควบคุมไต้หวันเพียงหลวมๆ ก่อนตั้งให้เกาะมีฐานะเป็นมณฑลหนึ่งในปี 1885 (พ.ศ. 2428) จากนั้นจึงตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นในอีกราว 10 ปีให้หลัง
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไต้หวันกลายเป็นที่มั่นของ "จอมพลเจียงไคเช็ค" ผู้นำจีนคณะชาติ ซึ่งพากองทัพหลบหนีการตามล่าของกองทัพแดงนำโดยเหมา เจ๋อตุง และกลายเป็นที่ตั้งสาธารณรัฐจีนหรือไต้หวันจนถึงปัจจุบัน
เจียง ไคเช็ค ( ขอบคุณภาพจาก https://th.wikipedia.org )