บึงธาตุหลวงศูนย์กลางการค้าท่องเที่ยว กรุงเวียงจันทน์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งมีพลเมืองราว 6 ล้านคน กำลังจับมือกับจีนในการเนรมิตให้ "บึงน้ำเสีย" กลางกรุงเวียงจันทน์ กลายเป็นศูนย์กลางการค้า การท่องเที่ยว การเงิน และแหล่งวัฒนธรรมของเวียงจันทน์
เพื่อดึงดูดนักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวให้ไปใช้ชีวิต ทำธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าของเวียงจันทน์ให้เป็นเมืองที่โดดเด่นอันดับหนึ่งในลาว และเป็นเมืองที่น่าสนใจของอาเซียน โดยเฉพาะในกลุ่ม GMS (GREATER MEKONG SUBREGION) ซึ่งมี 6 ประเทศประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เวียดนาม พม่า ลาว และจีน
สถานที่ดังกล่าว เรียกชื่อว่า "บึงธาตุหลวง" คนลาวเรียกว่า SPECIAL ECONOMIC ZONE (SEZ) เข้าใจว่าลาวจะให้จีนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้าง
"บึงธาตุหลวง" เป็นการนำบึงที่เก็บกักน้ำเสียในกรุงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำมาปรับปรุง โดยทำให้น้ำเสียในพื้นที่ดังกล่าวเป็นน้ำดี และใช้เป็นศูนย์กลางธุรกิจและที่อยู่อาศัย
รูปแบบและการก่อสร้างเน้นและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับชีวิตเป็นหลักจากนั้นเพิ่มเติมสิ่งก่อสร้างต่างๆ เข้าไป โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 เขตหลัก ได้แก่ 1.เขตท่องเที่ยว 2.เขตสถานทูตและวัฒนธรรม 3.เขตธุรกิจการเงิน 4.เขตพื้นที่พักอาศัยเน้นไลฟ์สไตล์แบบใหม่ 5.เขตที่พักอาศัยอิงกับธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังเน้นให้มีสวนสาธารณะขนาดใหญ่ มีหอคอยแฝด 2 แห่งขนาดใหญ่ สูง 150 เมตร
พื้นที่ในเขตท่องเที่ยว สถานทูต วัฒนธรรมและธุรกิจการเงินนั้น จะเชื่อมต่อกันด้วยถนนและคลอง (คล้ายคลองเวนิซในอิตาลี) ทำให้เกิดความคล่องตัวในด้านต่าง ๆ ทั้งการค้า โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว มีจุดขายที่น่าสนใจ คือ ร้านขายสินค้าแบรนด์เนมปลอดภาษี มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจระดับโลก ทั้งโรงแรม 5 ดาว และแหล่งบันเทิง ร้านอาหารระดับโลก และสนามกอล์ฟ
ลาวพยายามวางกลยุทธ์ให้ประเทศตนเองเป็น "แลนด์-ลิงก์" หรือเมืองเชื่อมเมือง หรือเป็นประเทศที่เชื่อมต่อกับประเทศอื่น ๆ ใน GMS แทนที่จะถูกเรียกเป็น LAND-LOCK หรือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเหมือนแต่ก่อน
หากเรากางแผนที่และพิจารณากลุ่ม GMS จะเห็นว่า "ลาวเป็นคู่แข่งของไทยด้านการเป็น CENTER OF INTERNATIONAL TRANDE AND LOGISTICS IN GMS"
ทุกวันนี้สินค้าอุตสาหกรรมที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันนะเขตของลาว (ที่สะหวันเซโน) ห่างจากมุกดาหารเพียงแค่ 30 นาที สามารถขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรืออุ่งหวาง ทางตอนกลางประเทศเวียดนาม
กาแฟและยางพาราที่จำปาสักทางตอนใต้ของลาวเข้าไทยที่พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี เพื่อขนส่งไปลงเรือแหลมฉบังหรือคลองเตย
ในอนาคตหากมีการปรับเส้นทางให้ดี สินค้าหลายอย่างของไทยในภาคอีสาน สามารถขนส่งจากนครพนมไปลาวเข้าเวียดนามและจีน
ขณะนี้สินค้าหลายอย่างของจีน ขนส่งผ่านลาวเข้าพม่า เพื่อเข้าไทยที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย หรือขนสินค้าไทยที่แม่สายไปพม่าเพื่อเข้าสู่จีนตามเส้นทาง R3B
ขณะเดียวกัน สินค้าไทยไปจีนผ่านลาวที่เชียงของ ไปออกบ่อเต็นที่หลวงน้ำทา สปป.ลาว และต่อไปจิ่งหง (เชียงรุ้ง) ของจีน เพื่อเข้าไปคุนหมิงตามเส้นทาง R3A
ในอนาคตสินค้าขนส่งโดยรถจากเวียดนาม กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ผ่านเข้าไทยไปพม่าตามเส้นทาง EAST-WEST ECONOMIC CORRIDOR หรือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจที่เชื่อมเวียดนาม ลาว ไทย พม่าเข้าด้วยกัน และในอนาคตอันใกล้สินค้าจากกลุ่ม ACMEC 5 ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย จะพุ่งต่อไปยังรัฐ 7 สาวน้อยในอินเดีย (7 รัฐในภาคอีสานของอินเดีย) โดยทางรถยนต์
ลองนึกภาพดูว่าหากขนส่งสินค้าทางเรือจากเวียดนาม กัมพูชา ลาว ไปอินเดีย จะใช้เวลา 30 วัน แต่หากเป็นการขนส่งทางรถยนต์ จะใช้เวลาเพียง 15 วัน และหากเส้นทางที่เชื่อมระหว่างอินเดียกับพม่า ระหว่างเมืองโมนีหว่ากับกาเลหว่าในพม่าสร้างเสร็จ การขนส่งทางรถจากแม่สอดผ่านพม่าไปอินเดีย จะใช้เวลาเพียง 10 วัน
ด้วยเหตุนี้ ลาววางกลยุทธ์ให้ประเทศของตนเป็น LAND-LINK จึงเป็นไปได้สูงมากที่สินค้าจากเวียดนามจะผ่านลาวเข้าไทยไปพม่าและอินเดีย
ดังนั้น หาก "บึงธาตุหลวง" สำเร็จตามโครงการ จะเกิดผลกระทบที่ติดตามมา ดังนี้ หนึ่ง- "บึงธาตุหลวง" จะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว การค้า และการทำธุรกิจของเวียงจันทน์และของลาว สอง-โรงงานอุตสาหกรรมจะอยู่รอบเวียงจันทน์หรือจังหวัดใกล้เคียง แต่ธุรกรรมด้านการเงิน บริการ จะดำเนินการที่ "บึงธาตุหลวง" จะมีสถานที่แสดงสินค้าขนาดใหญ่เกิดขึ้นใน "บึงธาตุหลวง"
สาม-การท่องเที่ยวในอนาคต จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและวัฒนธรรม โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลางหรือผู้มีฐานะดี จัดคณะทัวร์มารักษาที่กรุงเทพฯ และเที่ยวกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ จากนั้นแวะเที่ยวต่อที่ "บึงธาตุหลวง" แล้วต่อไปกัมพูชา แล้วกลับตะวันออกกลาง
สี่-พ่อค้า นักธุรกิจ จะใช้ "บึงธาตุหลวง" เป็นที่พักรถ หรือพักผ่อนเพื่อความบันเทิง นักท่องเที่ยวที่เคยมาไทยในรูปคาราวานรถหรูครั้งละ 30-40 คัน อาจเบนเข็มไปเวียงจันทน์แทน ห้า-ศูนย์กลางของ
โลจิสติกส์ใน GMS จะเปลี่ยนไป การขนถ่ายสินค้า การกระจายสินค้า ฯลฯ แทนที่จะเป็นหนองคาย อุดรฯ เชียงราย อาจเป็นเวียงจันทน์แทน หก-อุดรธานีและหนองคาย ซึ่งเคยเป็นเมืองคึกคักอาจเปลี่ยนไป เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ "ลาว" กับ "จีน" หรือ "ลาว" กับสายการบินโลว์คอสต์ จับมือกันลดค่าตั๋วระหว่างกรุงเทพฯ เวียงจันทน์ เจ็ด-พ่อค้า แม่ค้าจากเวียงจันทน์ จากที่เคยข้ามโขงมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่ จ.อุดรธานีและหนองคาย เพื่อนำไปขายที่เวียงจันทน์และเมืองอื่น ๆ หากสร้าง "บึงธาตุหลวง" เสร็จ แน่นอนว่าจีนจะเป็นคนนำสินค้าจากจีนไปขายในลาว ดังนั้น ความคึกคักของ จ.อุดรธานีและหนองคายจะเบาบางลง
หาก "บึงธาตุหลวง" สร้างเสร็จ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลา 5-6 ปี ประเทศไทยจะเตรียมตัวรองรับกลยุทธ์นี้ของลาวอย่างไร จึงเป็นเรื่องที่น่าคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ใน GMS เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก