นักบินอวกาศอพอลโลอาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เพราะรังสีในห้วงอวกาศลึก
นักบินอวกาศอพอลโลอาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เพราะรังสีในห้วงอวกาศลึก
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (28 ก.ค.) มีผลงานวิจัยใหม่ออกมาที่ระบุว่า บรรดานักบินอวกาศสหรัฐอเมริกาที่เคยปฏิบัติภารกิจนำยานอพอลโลลงจอดบนดวงจันทร์ในปี 1960 และ 1970 กำลังมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจที่สูงขึ้น โดยสาเหตุคาดว่าเกิดจากการสัมผัสกับรังสีในอวกาศห้วงลึก
นักบินอวกาศอพอลโลเป็นมนุษย์เพียงกลุ่มเดียวที่ได้เดินทางพ้นออกไปจากอาณาเขตของสนามแม่เหล็กโลกที่สามารถปกป้องมนุษย์จากรังสีดังกล่าวได้ ขณะที่ยานอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมลำอื่นๆ ได้เดินทางออกไปถึงระดับวงโคจรต่ำของโลกเท่านั้น
กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต ผู้ดำเนินการศึกษาดังกล่าว ได้นำสาเหตุการเสียชีวิตของนักบินอวกาศยาน 7 คนจากภารกิจยานอพอลโลเยือนดวงจันทร์มาเปรียบเทียบกับสาเหตุการเสียชีวิตของนักบินอวกาศที่เคยปฏิบัติภารกิจแค่ในวงโคจรต่ำของโลก 35 คน และนักบินอวกาศที่ไม่เคยปฏิบัติภารกิจโคจรในอวกาศเลย 35 คน
จากการตรวจสอบพบว่าร้อยละ 43 ของนักบินอวกาศยานอพอลโลเสียชีวิตจากปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งถือว่าสูงกว่านักบินอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจแค่ในวงโคจรต่ำของโลกและไม่เคยปฏิบัติภารกิจโคจรในอวกาศเลยถึง 4-5 เท่า
"เรามีความรู้ที่น้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบของรังสีอวกาศต่อสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด" ศาสตราจารย์ Michael Delp ของมหาวิทยาลัยฟลอริดาสเตต ผู้นำการศึกษานี้กล่าวในการแถลง
เพื่อทดสอบกลไกพื้นฐานที่เป็นไปได้สำหรับการค้นพบเหล่านี้ นักวิจัยได้ทำการทดลองโดยนำหนูทดลองกลุ่มหนึ่งมาสัมผัสกับรังสีชนิดเดียวกับที่นักบินอวกาศอพอลโลเคยได้สัมผัส
หลังจากนั้น 6 เดือน ซึ่งเทียบเท่ากับอายุขัย 20 ปีของมนุษย์ นักวิจัยได้ตรวจสอบและพบว่าหลอดเลือดแดงของหนูทดลองกลุ่มนี้เกิดการเสื่อมสมรรถภาพ อันเป็นที่รู้กันว่าหากลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในมนุษย์ มันจะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง
"ข้อมูลที่เราได้จากการทดลองกับหนู บอกให้รู้ว่ารังสีในห้วงอวกาศเป็นอันตรายต่อหลอดเลือดของเรา" ศาสตราจารย์ Delp กล่าว