"ไขความลับ" ระบบระบายน้ำในพระราชวังต้องห้าม
"ไขความลับ" ระบบระบายน้ำในพระราชวังต้องห้าม
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ พาสื่อมวลชนนำชมระบบระบายน้ำของพระราชวังต้องห้าม
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. สำนักข่าวซินหัวประจำกรุงปักกิ่งรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ พระราชวังต้องห้ามที่มีอายุกว่า 600 ปี ได้กลายเป็นจุดสนใจเพราะเหตุฝนตกหนักในกรุงปักกิ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากเวลาเกิดฝนตกหนัก พื้นในพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามไม่เคยปรากฏภาพน้ำท่วมขังเลย ทำให้ชาวเน็ตต่างชื่นชมระบบระบายน้ำของพระราชวังต้องห้ามอย่างล้มหลาม ด้วยเหตุนี้ นายตัน จี้เสียง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้าม จึงออกมากล่าวว่า นี่ไม่เป็นเพียงการสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและความเฉลียวฉลาดในการสร้างสถาปัตยกรรมของคนสมัยก่อน แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงการรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่ผู้คนในยุคปัจจุบันยึดถือมาโดยตลอดอีกด้วย
ลานด้านหน้าพระที่นั่งไท่เห
นายตัน จี้เสียงแนะนำว่า ครั้นเมื่อแรกสร้างพระราชวังต้องห้าม ระบบระบายน้ำมีการรังวัดพื้นที่อย่างแม่นยำ มีการออกแบบอย่างถูกต้อง และมีการก่อสร้างโดยละเอียด โดยพื้นของพระราชวังต้องห้ามจะสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ของกรุงปักกิ่ง กล่าวโดยรวมคือ ทิศเหนือสูง ทิศใต้ต่ำ กึ่งกลางสูง ทั้งสองข้างต่ำ อีกทั้งยังมีความลาดเอียงเล็กน้อย ดังเช่น พื้นบริเวณ “ประตูเสินอู่” (神武门) ประตูด้านทิศเหนือของพระราชวังต้องห้าม มีความสูง 46.05 เมตร และ “ประตูอู่” (午门) ประตูด้านทิศใต้ พื้นมีความสูง 44.28 เมตร พื้นตามแนวตั้งสูงประมาณ 2 เมตร โดยการไล่ระดับความสูงนี้เป็นไปเพื่อระบายน้ำตามธรรมชาติ ทำให้น้ำที่เจิ่งนองสามารถระบายออกได้อย่างช้าๆ ทั้งนี้คูระบายน้ำทั้งหมดภายในพระราชวังต้องห้าม จะไหลผ่านคลองจินสุ่ยชั้นใน (内金水河) ซึ่งคลองจินสุ่ยชั้นในจะเชื่อมกับคลองด้านนอกที่ล้อมรอบกำแพงพระราชวังที่มีความกว้าง 52 เมตร ทำให้น้ำไหลไปรวมกับคลองจินสุ่ยชั้นนอก (外金水河) รวมถึงระบบคลองรอบนอกอื่นๆที่เชื่อมถึงกัน โดยระบบน้ำโดยระบบคลองรอบนอกอื่นๆก็มีคุณสมบัติในการการระบายน้ำเช่นเดียวกัน
ภาพส่วนหัวของมังกร (螭) หนึ่งในลูกมังกรทั้งเก้าตาม
"ถือเป็นความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของมนุษย์ในการสร้างพระราชวังแห่งนี้ และยังทำให้เราตระหนักถึงภาระอันใหญ่หลวงของการรักษามรดกทางวัฒนธรรม เราจึงทั้งมีการทำวิจัยและการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้ ส่งผลให้ความสามารถในการระบายน้ำของพระราชวังต้องห้ามยังคงล้ำสมัยอยู่เสมอ" นายตัน จี้เสียงกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามได้เริ่มศึกษาวิจัยเรื่องระบบระบายน้ำภายในพระราชวังเป็นหลัก โดยใช้ช่วงฤดูฝนในการส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่บันทึก วาดภาพ แล้วสรุปเป็นแผนที่การกระจายของน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง จากนั้นค่อยวิเคราะห์หาสาเหตุของน้ำท่วมขังจากแผนที่ที่ครอบคลุมในเชิงลึก และศึกษาวิธีการแก้ไขแบบบูรณาการ
เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดปากคลองจินสุ่ยชั้นใน (内金水河) อยู่เป็นประจำ
นายตัน จี้เสียงกล่าวว่า "สิ่งอำนวยความสะดวกโบราณที่ช่วยระบายน้ำเหล่านี้เองที่เป็นส่วนสำคัญในการทำให้พระราชวังต้องห้ามได้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก ซึ่งควรจะได้รับการดูแลอย่างดีเช่นเดียวกับที่ดูแลอาคารโบราณในพระราชวังต้องห้ามด้วยเช่นกัน ตลอด 18 ปีที่ผ่านมาที่มีการบูรณะซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของพระราชวัง หนึ่งในนั้นมีการดูแลรักษาระบบระบายน้ำแบบโบราณรวมอยู่ด้วย โดยในปี 2014- 2015 มีการบูรณะซ่อมแซมตำหนักฉือหนิง (慈宁宫) ตำหนักโซ่วคัง (寿康宫) อุทยานฉือหนิง (慈宁花园) ทำให้ระบบระบายน้ำฝนของทั้งสามแห่งได้รับการซ่อมแซมบำรุงรักษาด้วย
เจ้าหน้าที่กำลังเร่งทำความสะอาดรางน้ำฝนขณะฝนตกหนัก
สืบเนื่องจากคุณค่าและความสำคัญต่อสังคมของพระราชวังต้องห้ามนั้นมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังปกป้องและอนุรักษ์ระบบระบายน้ำฝนแบบดั้งเดิมของที่นี่ ก็จะต้องสร้างระบบกำจัดน้ำเสียที่สมบูรณ์แบบควบคู่ไปด้วย โดยปัจจุบัน ระบบระบายน้ำภายในพิพิธภัณฑ์ของพระราชวังต้องห้ามแบ่งเป็นระบบระบายน้ำฝนและน้ำเสียแยกออกจากกัน ระบบบำบัดน้ำเสียเป็นท่อที่เชื่อมกับระบบเครือข่ายการระบายน้ำของเมือง ส่วนระบบระบายน้ำแบบปกติจะใช้เพื่อระบายน้ำฝนเพียงเท่านั้น
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา พิพิธภัณฑ์พระราชวังต้องห้ามค่อยๆ เปลี่ยนวัสดุก่อสร้างแบบดั้งเดิมจากที่เคยใช้หินก็เริ่มลงปูนซีเมนต์และทำเป็นพื้นยางมะตอยทั่วทุกแห่ง ทั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์ แต่ยังทำให้การระบายน้ำและการซึมของน้ำมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย