กรณีศึกษา “ประเทศเวเนซุเอลา” ผลกระทบอย่างรุนแรงจากการใช้ “นโยบายประชานิยม”
กรณีศึกษา “ประเทศเวเนซุเอลา” ผลกระทบอย่างรุนแรงจากการใช้ “นโยบายประชานิยม”
แต่วันนี้เวเนซุเอลาได้กลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวสุด ๆ (Failed state) ดังจะเห็นได้ว่า อัตราการเติบโตติดลบกว่า 10% และมีแนวโน้นที่จะเลวลง เงินเฟ้อเมื่อปีที่แล้ว 270% ปีนี้คาดว่า 1000% (เงินเฟ้อไทยขณะนี้ประมาณ 1 % เท่านั้น) เงินสำรองร่อยหรอจนเกือบหมด คนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 15% ราชการทำงานอาทิตย์ละ 2 วัน ข้าวของขาดแคลนแม้กระทั่งกระดาษในห้องน้ำ เวลาไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตต้องเข้าแถวรอ 2 – 3 ชั่วโมง หยูกยาหายากเนื่องจากเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่น้อยมาก
ประเทศเวเนซุเอลาในขณะนี้กำลังเจอปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมที่รุนแรงมากมายจนเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมาก
ในอดีตเป็นประเทศที่เจริญมั่งคั่งและเป็นหนึ่งในประเทศที่สำคัญของละตินอเมริกา ชื่อเวเนซุเอลา (Venezuela) ก็เป็นสัญลักษณ์ของการอธิบาย กล่าวคือ เวเนซุเอลา หมายถึง เวนิสเล็ก ๆ ที่น่ารัก เวเนซุเอลาในภาษาสเปนเกิดการจากรวมกันระหว่าง Venecia ซึ่งหมายถึงเมืองเวนิส กับคำว่า Suela ซึ่งหมายถึงการบอกลักษณะความน่ารัก เช่น คำว่า chico ซึ่งหมายถึงเด็กผู้ชาย ดังนั้นคำว่า chiquillo จึงหมายถึงเด็กที่น่ารัก ชื่อเวเนซุเอลาจึงเป็นเหมือนภาพฉายในอดีตแห่งความยิ่งใหญ่และประเทศที่น่ารักในละตินอเมริกา
เวเนซุเอลาขณะนี้มีประชากร 30 ล้านคน เป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากเป็นอันดับ 5 ของโลก ดังนั้นจึงเป็นประเทศที่เคยร่ำรวยมหาศาล เพราะมีประชากรน้อย แต่มีทรัพยากรที่มีค่า คือ น้ำมัน ดังตัวอย่างในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
แต่วันนี้เวเนซุเอลาได้กลายเป็นประเทศที่ล้มเหลวสุด ๆ (Failed state) ดังจะเห็นได้ว่า อัตราการเติบโตติดลบกว่า 10% และมีแนวโน้นที่จะเลวลง เงินเฟ้อเมื่อปีที่แล้ว 270% ปีนี้คาดว่า 1000% (เงินเฟ้อไทยขณะนี้ประมาณ 1 % เท่านั้น) เงินสำรองร่อยหรอจนเกือบหมด คนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 15% ราชการทำงานอาทิตย์ละ 2 วัน ข้าวของขาดแคลนแม้กระทั่งกระดาษในห้องน้ำ เวลาไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตต้องเข้าแถวรอ 2 – 3 ชั่วโมง หยูกยาหายากเนื่องจากเงินตราต่างประเทศเหลืออยู่น้อยมาก
รัฐบาลจึงไม่ยอมให้มีการนำเข้าโดยบอกให้ใช้ยาที่ผลิตในเวเนซุเอลา แต่เอาเข้าจริง กำลังการผลิตทำได้แสนหน่วย ขณะที่ความต้องการอยู่ที่ 20 ล้านหน่วย ในแง่การเมืองเกิดการขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชน 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลใส่เสื้อแดง ซึ่งก็ชวนคิดให้นึกถึงประเทศไทยของเรา
อะไรที่ทำให้ประเทศที่เคยยิ่งใหญ่และร่ำรวยอย่างเวเนซุเอลากลายเป็นประเทศที่เลวร้ายสุด ๆ ในทุกวันนี้ คำตอบคือ
1. ความจริงแล้วเวเนซุเอลาก็เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในละตินอเมริกา กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีปัญหาเรื่องการมีหนี้ของภาครัฐ และเป็นประเทศซึ่งมีปัญหาขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาที่ทำให้เกิดหนี้สินส่วนสำคัญก็เช่นเดียวกันกับประเทศในละตินอเมริกาทั่วไป คือ นโยบายประชานิยม
อย่างไรก็ตาม เวเนซุเอลายังไม่เคยเจอกับวิกฤตขนาดหนักเท่ากับทุกวันนี้ ปัจจัยที่นำไปสู่เหตุการณ์นี้คือ ในปี 1998 นายฮูโก ชาเวซชนะการเลือกตั้งทั่วไปได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ความจริงนั้นนายฮูโก ชาเวซเคยทำรัฐประหารในปี 1992 แต่ไม่สำเร็จ นายฮูโก ชาเวซนั้นได้วางนโยบายประชานิยมในการหาเสียงคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ซึ่งนายฮูโก ชาเวซเรียกการเปลี่ยนแปลงนี้ว่าเป็น “การปฏิวัติแบบBoriva” นายโบลิวาเป็นนักการเมืองเมื่อศตวรรษที่แล้วที่เป็นที่เคารพในละตินอเมริกามาก เพราะเน้นชาตินิยม เน้นการปลดแอกจากจักรวรรดินิยมอเมริกา เนื้อหาสำคัญของการปฏิวัติแบบ Boriva ของนายฮูโก ชาเวซ คือ
1.1 เป็นการปฏิวัติสังคมนิยมซึ่งนำไปสู่การโอนกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐ
1.2 ต่อต้านจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา โดยมีการรวมกลุ่มประเทศฝ่ายซ้ายในอเมริกาประกอบด้วย ประเทศนิการากัว บราซิล โบลิเวีย อาร์เจนตินา และคิวบา เป็นต้น โดยนายฮูโก ชาเวซต้องการเป็นผู้นำในการต่อต้านอเมริกาซึ่งไม่ครอบคลุมแค่ในละตินอเมริกาแต่ขยายตัวสู่แอฟริกาและภูมิภาคอื่นด้วย
ผลจากการดำเนินนโยบายทั้ง 2 ประการทำให้เวเนซุเอลาต้องใช้เงินมหาศาล อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูง รายได้ของเวเนซุเอลาจึงมีมาก เพราะรายได้จากน้ำมันเท่ากับรายได้ 50% ของเวเนซุเอลา รายได้การส่งออกน้ำมันเท่ากับ 95% ของการส่งออกทั้งหมดดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันพุ่งกว่า 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เวเนซุเอลาจึงยิ่งใหญ่ ภายในประเทศคนก็นับถือนายฮูโก ชาเวซราวกับพระเจ้า ภายนอกประเทศก็มีฐานะเป็นผู้นำละตินอเมริกาในการต่อต้านสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตามเมื่อราคาน้ำมันลดลงอย่างมหาศาล รายได้หดหายไป เงินสำรองก็หายจนไม่พอใช้หนี้ หลังสุดเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เวเนซุเอลายังกัดฟันจ่ายหนี้ IMF โดยการลดการใช้จ่ายในประเทศด้านอื่น ๆ ดังจะเห็นว่าหยูกยาหายากมาก
2. ในช่วงที่นายฮูโก ชาเวซเป็นประธานาธิบดีมีการสร้างฐานเสียงด้วยการใช้นโยบายประชานิยมสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการ น้ำมันราคาถูก ขนส่งมวลชนราคาถูก ยิ่งกว่านั้นเอาเงินไปช่วยเหลือต่างประเทศโดยเฉพาะคิวบา เพื่อรักษาสถานภาพความเป็นผู้นำในการต่อต้านอเมริกา เมื่อราคาน้ำมันลดลง เวเนซุเอลาก็จนลง ทั้งนี้เพราะในช่วงที่รุ่งเรือง รัฐบาลไม่ได้มีการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน เช่น ขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมัน ไม่มีการพัฒนาผลิตภาพของประชาชนให้เพิ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นใช้แต่แรงงาน
3. นายฮูโก ชาเวสได้แก้รัฐธรรมนูญให้สามารถต่ออายุได้ไม่สิ้นสุด และมีการซื้อสิทธิขายเสียง คอรัปชั่น แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็รัก ทั้งนี้เพราะได้ประโยชน์จากนโยบายประชานิยม แต่สิ่งที่สร้างปัญหาตามมาคือ ประชาชนเหล่านี้กลายเป็นกองทัพประชาชนที่มาปกป้องนายฮูโก ชาเวซ ซึ่งกลายเป็นปัญหา เมื่อนายฮูโก ชาเวซตายในปี 2013 มือขวาของเขาคือนายนิโคลัส มาดูโรได้ขึ้นมาแทนและชนะการเลือกตั้งปี 2013 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีการซื้อเสียงและโกงอันนำไปสู่ความขัดแย้งกับฝ่ายค้าน
ในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏว่า กลุ่มฝ่ายค้านที่ชื่อว่า Mesa de unidad democratica (MUD) ชนะการเลือกตั้ง แต่เนื่องจากเวเนซุเอลาเป็นระบบประธานาธิบดี โดยประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง รัฐสภาซึ่งมีเสียงข้างมากจากฝ่ายค้านจึงไม่สามารถลงมติไม่ไว้วางใจได้ ฝ่ายค้านจึงใช้การทำประชามติเพื่อขับไล่นายนิโคลัส มาดูโร ให้รับผิดชอบจากการทำให้เวเนซุเอลาต้องล้มเหลว
ปรากฏว่านายนิโคลัส มาดูโรใช้กองทัพประชาชนมาสนับสนุนเขา มีการใช้ศาลซึ่งเป็นกลุ่มเขาเพื่อยับยั้งการทำประชามติ มีการใช้พระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกาแทนกฎหมายทั่วไป เพราะกฎหมายมาจากรัฐสภาแต่พระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกานั้นประธานาธิบดีเป็นคนกำหนด โดยนายนิโคลัส มาดูโรกล่าวหาว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจย่อยยับมาจากจักรวรรดินิยมอเมริกาและการต่อต้านเขาเป็นการทำลายระบบที่นายฮูโก ชาเวซได้วางไว้
เวเนซุเอลาเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากที่แสดงให้เห็นผู้นำที่เลวร้ายสุด ๆ และยังแสดงออกถึงผลกระทบอย่างรุนแรงจากการใช้นโยบายประชานิยม