จริงหรือไม่? ยูนนานพบ “ฟอสซิลมังกร” อายุกว่า 250 ล้านปี
จริงหรือไม่? ยูนนานพบ “ฟอสซิลมังกร” อายุกว่า 250 ล้านปี
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. สำนักข่าวซินหัวประจำเมืองคุนหมิงรายงานว่า วันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ภาพวัตถุคล้าย “ฟอสซิลมังกร” ที่ขุดพบบริเวณริมแม่น้ำเล็ก ๆ ในหมู่บ้านเหลาฉ่าง ตำบลผิงซ่าง อำเภอเจิ้นสยง เมืองเจาทง มณฑลคุนหมิง ซึ่งได้รับความสนใจจากชาวเน็ตเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มันไม่ใช่ “ฟอสซิลมังกร” อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นส่วนลำต้นของซากดึกดำบรรพ์ของไม้ที่กลายเป็นหิน ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งในไฟลัมไลโคไฟตา (Division Lycophyta) ที่มีชีวิตอยู่ในปลายยุคเพอร์เมียน (Permian) เมื่อ 250 ล้านปีก่อน
จากภาพเผยให้เห็นชิ้นส่วนที่มีความยาวประมาณ 130 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางยาว 17 ซม. มีสีดำและแข็ง ส่วนของ “เกล็ด”มีผิวเรียบและเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ หากดูจากรูปร่างและขนาดของฟอสซิล ชาวบ้านจึงเดาว่ามันเป็นฟอสซิลของงูหลามยักษ์ บางคนถึงกับบอกว่ามันคือ "มังกร" ที่อยู่ในตำนาน
หลังจากที่เผยแพร่ภาพลงอินเตอร์เน็ต ในช่วงกลางดึกของวันนั้น ฟอสซิลก็ถูกขโมยและทำลาย สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอเจิ้นสยงจึงรีบดำเนินการขุดชิ้นส่วนที่เหลือ ซึ่งหลังจากตรวจสอบแล้ว ก็พบว่าฟอสซิลชิ้นนี้เป็นซากดึกดำบรรพ์ของไม้ที่กลายเป็นหินในช่วงปลายยุคเพอร์เมียนเมื่อ 250 ล้านปีก่อน จึงนับว่ามีความสำคัญต่องานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก
ศ.เฝิงจัว อาจารย์พิเศษห้องปฏิบัติการหลักสัตว์และพืชดึกดำบรรพ์ศึกษาระดับปริญญาเอกของ ม.ยูนนาน อธิบายว่า สิ่งที่ชาวบ้านขุดพบนั้นเป็นซากดึกดำบรรพ์ของไม้กลายเป็นหินที่พบได้ทั่วไป เป็นพืชชนิดหนึ่งในไฟลัมไลโคไฟตาที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และเคยอยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) และยุคเพอร์เมียน (permian) จึงนับว่ามีความสำคัญต่อโลกในฐานะซากพืชที่ตกตะกอนและกลายเป็นถ่านหิน
โดยซากดึกดำบรรพ์ไม้กลายเป็นหินนี้มีอายุราว 350 – 250 ล้านปีก่อน อยู่ในยุคคาร์บอนิเฟอรัส (Carboniferous) และยุคเพอร์เมียน (permian) สามารถเจริญเติบโตได้จนมีลักษณะสูงใหญ่ อาจสูงได้เกือบ 50 เมตร เมื่อใบร่วงโรยแล้ว ผิวของลำต้นจึงทิ้งรอยตาของต้นไม้เอาไว้ ทำให้มีลักษณะคล้ายกับเกล็ดปลาและงูที่เรียงต่อกันอย่างเป็นระเบียบ