“ไทย” เป็นประเทศแรกที่หยุด “การแพร่เชื้อ HIV” จากแม่สู่ลูก
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้ “ประเทศไทย” เป็นประเทศแรกของเอเชีย ในการหยุด “การแพร่เชื้อเอชไอวีและซิฟิลิส” จากแม่สู่ลูก ได้สำเร็จ!
น่ายินดี! องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร (7 มิถุนายน) ประกาศให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกของเอเชียที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) และเชื้อซิฟิลิส (Syphilis) จากแม่เด็กสู่ลูกได้ หลังจำนวนตัวเลขของเด็กทารกที่ติดเชื้อเอชไอวี ลดลงจาก 3,000 กว่ารายในช่วงปี 2533 เหลือเพียงแค่ 86 รายเท่านั้นในปี 2558
จากเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่ระบุไว้ว่า อัตราการติดเชื้อจากแม่เด็กสู่ลูกจะต้องต่ำลงกว่าร้อยละ 2 ต่อปี และมีจำนวนการติดเชื้อที่ต่ำกว่า 50 รายต่อจำนวนเด็กทารกแรกเกิด 100,000 ราย ทั้งนี้ คิวบานับเป็นประเทศแรกของโลกที่ได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกได้สำเร็จ
ในปีนี้ นอกจากประเทศไทยแล้ว ยังมีประเทศเบลารุส (Belarus) ที่ประสบความสำเร็จในการกำจัดการส่งต่อเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้ ส่วนอาร์เมเนีย (Armenia) ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในส่วนของเชื้อเอชไอวี และประเทศมอลโดวา (Modova) ที่สามารถกำจัดการส่งต่อเชื้อซิฟิลิสได้
ความสำเร็จในการกำจัดการส่งต่อเชื้อของประเทศไทยในครั้งนี้ อันเนื่องมาจากไทยเคยเป็นหนึ่งประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่สูงมากอันดับต้นๆของโลก โดยใช้
ซึ่งหญิงตั้งครรภ์สัญชาติไทยเกือบทุกคนจะได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อเอชไอวี พบว่า กว่าร้อยละ 95 ของหญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบเชื้อจะได้รับการรักษา เพื่อป้องกันการส่งต่อเชื้อจากแม่สู่ลูกทันที และเด็กทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเกือบทั้งหมดจะได้รับยาต้านรีโทรไวรัสทุกคน
ในแต่ละปี มีผู้หญิงติดเชื้อตั้งครรภ์ทั่วโลกราว 1.4 ล้านราย ปรากฏว่าตัวเลขเด็กทารกที่ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกลดลงจาก 400,000 รายในปี 2552 เหลือเพียง 220,000 รายในปี 2557 โดยเชื้อซิฟิลิสเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของเด็กทารก ทั้งแบบตายคลอดและเสียชีวิตในช่วงแรกหลังคลอดราวๆ 200,000 ราย
ในปีพ.ศ. 2555 องค์การอนามัยโลกระบุว่า การกำจัดเชื้อในรูปแบบดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นและเป้าหมายสำคัญ ซึ่งประเทศไทยทำให้เห็นแล้วว่าเราเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สามารถกำจัดและเอาชนะเชื้อเอชไอวีได้สำเร็จ โดยผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) นายมิเชล ซิดิเบ (Michel Sidibé) เผยว่า ความก้าวหน้าของประเทศไทยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จอันเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันในความร่วมมือระหว่างวิทยาศาสตร์และการแพทย์ รวมทั้งความชัดเจนและความต่อเนื่องในการผลักดันนโยบาย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงน่าเป็นห่วง โดยยูเอ็นได้ประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อ ภายในประเทศไทยไว้ที 500,000 ราย ซึ่งมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ส่วนมากพบในกลุ่มรักร่วมเพศ (ชายรักชาย) ทั้งนี้นายสตีฟ มิลส์ (Steve Mills) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคขององค์กรเอฟเอสไอ 360 ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (FHI360’s Asia-Pacific) ชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดโดยการฉีด กลุ่มผู้ขายบริการทางเพศ และกลุ่มรักร่วมเพศ มีอัตราการติดเชื้อของกลุ่มชายรักร่วมเพศเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 21 ในปี พ.ศ. 2543 เป็นร้อยละ 28 ในปี พ.ศ. 2555 และมีเพียง 1 ใน 5 รายเท่านั้น ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านรีโทรไวรัส