เจอแล้วลบเลย!!แอปฯกู้เงินนอกระบบ 'สินเชื่อความสุข'-'Fineasy'
เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ได้โพสต์ข้อความเตือนภัยเกี่ยวกับแอปฯกู้เงินนอกระบบที่ปรากฏขึ้นบนมือถือ โดยมีเนื้อหาดังนี้
.
เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือหลายๆ ท่านได้พบ แอปเงินกู้เถื่อน ติดตั้งมากับระบบปฏิบัติการ เช่น ‘สินเชื่อความสุข’ หรือ ‘Fineasy’ โดยที่แอปเหล่านี้จะสามารถส่งการเชิญชวนให้ผู้อื่นกู้เงิน รวมถึงการเข้าถึงรายชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของเราได้ และไม่สามารถถอนการติดตั้งออกไปได้เพราะตัวแอปได้ถูกติดตั้งมากับระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์
.
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอแนะนำว่า หากท่านใดสามารถลบแอปดังกล่าวได้ ให้ท่านลบออกโดยทันที แต่ถ้าหากท่านใดที่ไม่สามารถลบออกได้ ให้ปิดการใช้งานแอปเหล่านั้นทันที หรือติดต่อที่ศูนย์บริการโทรศัพท์ทั่วประเทศ เพื่อป้องกันให้ตัวแอปไม่สามารถส่งข้อความเชิญชวนไปหาผู้อื่นได้
สำหรับ วิธีการปิดการใช้งานแอป Fineasy
1. เข้าไปที่ “การตั้งค่า”
2. เลือกเมนู “แอป”
3. เลือกเมนู “การจัดการแอป” และเลือกแอป “Fineasy”
4. กด “บังคับให้หยุด” และ “ปิดใช้งาน”
.
และหากท่านใดพบปัญหาตัวแอป Fineasy เปิดขึ้นมาเองเมื่อเข้าใกล้มือถือเครื่อง ให้ทำการปิดการใช้งาน NFC โดยทำตวามขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. เข้าไปที่ “การตั้งค่า”
2. เลือกเมนู “แอป”
3. เลือกเมนู “สิทธิ์เข้าถึงพิเศษของแอพ”
4. เลือกเมนู เรียกใช้งาน NFC
5. กดที่แอป Fineasy จากนั้นเลือกปิด “อนุญาตให้เปิดเมื่อสแกน NFC”
.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวิธีการนี้เป็นวิธีการปิดการใช้งานแบบชั่วคราว ทำให้ตัวแอปมีโอกาสเปิดใช้งานขึ้นมาอีกครั้ง หากตัวแอปเปิดใช้งานขึ้นมาอีก ก็ให้ทำตามขั้นตอนเดิม หรือติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์ทั่วประเทศเพื่อปิดใช้งานตัวแอปดังกล่าว
.
นอกจากนี้ทางเพจเฟซบุ๊ก สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รายงานข่าวสารเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยสภาผู้บริโภคได้ให้ทางมือถือแบรนด์ดังอย่าง Oppo และ Realme ชี้แจงถึงการที่มีแอปฯดังกล่าวติดตั้งมาในอุปกรณ์ และเรียกร้องให้ถอนแอปฯกู้เงินนอกระบบดังกล่าวออกจากเครื่อง โดยได้โพสต์ข้อความดังนี้
.
📌 สภาผู้บริโภคยื่นคำขาด! ให้ “ออปโป้ (OPPO) – เรียลมี (Realme)” ชี้แจง Fineasy และ สินเชื่อความสุข ติดตั้งมาบนอุปกรณ์ได้อย่างไรใน 3 วัน พร้อมเรียกร้องให้ถอนแอปกู้เงินเถื่อนออกจากเครื่องโดยทันที เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำและต้องไม่ให้เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ
.
“การติดตั้งแอปฯ เข้ามาโดยไม่ได้รับความยินยอมถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในมาตรา 4 (2) ของพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ผู้บริโภคต้องมีสิทธิเลือกใช้สินค้าและบริการโดยไม่ถูกบังคับ และต้องได้รับปลอดภัย โปร่งใส ที่สำคัญผู้บริโภคไม่ควรต้องตกเป็นเหยื่อการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ”
.
นอกจากนี้สภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้ 5 หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายโดยด่วนกับกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
.
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการหลงเชื่อใช้แอปพลิเคชันที่ขายพ่วงมือถือหรือแอปฯ ที่ติดตั้งโดยไม่ยินยอม หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากแอปฯ กู้เงินเถื่อน ติดต่อสภาผู้บริโภคที่หมายเลข 1502 หรือร้องเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ tcc.or.th รวมถึงช่องทางการสื่อสารของสภาผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตามสิทธิของผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน
.