ควันหลงมาตรการเยียวยา
แม้การประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิร์ตซ์ (MHz) จะรูดม่านลงไปแล้วแบบ “ม้วนเดียวจบ” โดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ที่เคยเสนอตัวขอรับ “เซ็งลี้” คลื่นความถี่ย่านดังกล่าวมาตั้งแต่แรก คว้าใบอนุญาตไปตามคาดหมายแบบไร้คู่แข่ง ทำเอา กสทช. ยิ้มแก้มปริ
ไม่เพียงจะช่วยรักษาหน้าให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จากการเคาะราคาประมูลไปเท่ากับราคาที่บริษัท “แจส โมบาย” ผู้ชนะการประมูลครั้งก่อนเสนอเอาไว้ที่ 75,654 ล้านบาทยัง “ปลดล็อค” ปัญหาความขัดแย้งจากความพยายามของค่ายมือถือบางรายที่หวังจะ “กินรวบ” ลูกค้าผู้ใช้บริการเดิมในระบบ 2 จี 900 แบบเบ็ดเสร็จอีกด้วย เพราะเมื่อค่ายเอไอเอสประมูลคลื่นความถี่ 900 ได้ไปก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องดำเนินการโอนย้ายผู้ใช้บริการในระบบเดิมไปยังเครือข่ายผู้ใช้บริการรายอื่นให้ยุ่งยากอีก
แต่กระนั้นควันหลงจากประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ 2 จี 900 เดิมที่มีบิ๊ก กสทช.เข้าไปร่วมสังฆกรรมตามใบสั่งใครต่อใครอยู่ก่อนหน้า ก็ทำให้ประชาชนคนไทยได้เห็นปมปัญหาของมาตรการเยียวยาที่ถูก “ซุกเอาไว้ใต้พรม”
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแค่เรื่องของการเรียกเก็บค่าใช้คลื่นและโครงข่ายในช่วงมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการ แต่ไม่รู้ กสทช.ไปกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายกันอีท่าไหน จึงทำให้จนป่านนี้ก็ยังไม่สามารถให้ผู้ใช้คลื่นความถี่และโครงข่ายคำนวณอัตราค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นและส่วนต่างที่จะต้องนำส่ง กสทช.เพื่อเข้ารัฐได้
ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เพิ่งจะออกมาเปิดเผยว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้ สำนักงาน กสทช.จะสรุปตัวเลขาการคำนวณค่าใช้จ่ายการใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วงมาตรการเยียวยา ตามประกาศ กสทช.เพื่อนำเสนอบอร์ดกทค. และ กสทช.
โดยยอมรับว่าจนถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขค่าใช้จ่ายการใช้คลื่นความถี่และโครงข่ายในช่วงเยียวยาผู้ใช้บริการได้ โดยเฉพาะในส่วนของคลื่น 1800 เมกกะเฮิร์ตซ์ สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือ ดีพีซี ที่สิ้นสัญญาสัมปทานไปตั้งแต่ปีมะโว้ 16 กันยายน 2556 หรือเมื่อกว่า 3 ปีมาแล้ว และก็มีการประมูลคลื่นนี้ไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2558 แต่จนป่านนี้กลับยังไม่สามารถเช็คบิลค่าใช้จ่ายในช่วงเยียวยาได้
โดย กสทช.ได้เรียกเก็บเงินจากทรูมูฟไปนับพันล้านบาท แต่ทรูมูฟได้ยื่นอุทธรณ์และฟ้องศาลปกครองยืนยันว่าค่าใช้จ่ายในช่วงมาตรการเยียวยานั้นสูงลิ่วมากกว่ารายรับอยู่กว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งต้องให้รัฐรับผิดชอบชดใช้ให้คืนขณะที่บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ แคท ก็ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองว่า กสทช.คิดค่าใช้โครงข่ายและอุปกรณ์โทรคมนาคมในอัตราที่ต่ำมากจนรัฐเสียหายไปนับหมื่นล้านบาทเช่นกัน
กลายเป็นกรณีดราม่าที่ทำเอาวงการสื่อสารโทรคมนาคมมึนไปแปดตลบ เกิดอะไรขึ้นกับตัวเลขรายได้-รายจ่าย และส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการให้บริการในช่วงเยียวยาตั้งแต่ปีมะโว้ ที่ไม่เพียงจะปิดบัญชีไม่ลง เผลอๆ บริษัทสื่อสารเอกชนจะมาฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายเอากับรัฐเข้าไปอีก
เช่นเดียวกับคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับเอไอเอสที่สิ้นสุดลงไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2558 ก็จ่อจะเจริญรอยตาม หลัง กสทช.ได้เรียกเก็บเงินค่าใช้คลื่นความถี่ 900 ในช่วงเยียวยาจากเอไอเอส วงเงิน 125 ล้านบาท แต่บริษัททีโอทีกลับทำหนังสือถึง กสทช.เพื่อเรียกเก็บเงินชดเชยจากการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมในช่วงเยียวยาที่ว่าแค่ 3 เดือนนี้ถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่รู้คนทีโอทีไป “ยกเมฆ” เอาตัวเลขที่ว่ามาจากไหน เพราะหากเทียบกับข้อตกลงในการใช้โครงข่ายที่ทีโอทีทำกับบริษัทในภายหลังตามข้อตกลงเป็นพันธมิตรธุรกิจนั้นแตกต่างกันลิบลับ
และหากยึดตัวเลขค่าใช้จ่ายที่สูงลิบลิ่วขนาดนี้ ก็มีหวังคลื่น 1800 MHz ของแคท - ทรูมูฟ ที่มีการใช้มาตรการเยียวยามาร่วม 3 ปีก่อน ที่ กสทช.จะจัดประมูลคลื่นดังกล่าวออกไป ก็มีหวังทะลักไปเกินระดับหมื่นล้านหรือแสนล้านเป็นแน่
แต่ก็เป็นกรณีดราม่าที่ชี้ให้เห็นถึงความหละหลวมไม่เอาถ่านขององค์กร กสทช.โดยแท้ซึ่งหากยังเคลียร์หน้าเสื่อค่าใช้จ่ายในช่วงมาตรการเยียวยาที่ว่าไม่ลงตัวก็มีหวังอาจจะทำเอา กสทช.งานเข้าเอาได้อีก!!!